FETCO ชี้การเมือง-ศก.ถดถอย ฉุดดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า หด 16%
FETCO ชี้การเมือง-เศรษฐกิจถดถอย ปัจจัยฉุดดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า หด 16%
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ส.ค.63 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 16% อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนก่อน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และนโยบายภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19
สำหรับปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมา คือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
ทั้งนี้ FETCO Investor Confidence Index สำรวจในเดือนก.ค.63 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยลดลง 16% มาอยู่ที่ระดับ 85.26
ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในระดับทรงตัว โดยความเชื่อมันกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 87.04 ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลงที่ 83.33 สถาบันในประเทศปรับลดลงที่ 89.47 และนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงที่ 83.33
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ
ในช่วงเดือน ก.ค.63 SET Index ปิดที่ 1,328.53 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิ.ย. โดยดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบๆ 1,315-1,377 จุด หลังจากภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสสองของภาคธนาคารซึ่งดีกว่าคาดการณ์ การรายงานข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 แต่มีปัจจัยฉุดในบางช่วงจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งของไทยและทั่วโลกที่อาจแย่กว่าคาดการณ์, การประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 2/63, ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ, การระบาดรอบสองของโควิด-19 ในหลายๆ ประเทศ โดยปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำประเทศที่ต้องจับตาเรื่องการแทรกแซงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดลง และผลจากการผ่อนคลายธุรกิจระยะที่ 6 ที่จะเริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเข้าประเทศไทยได้