DTAC ยืนยันเข้าประมูล 4G ทั้ง 2 คลื่นตามเงื่อนไข เชื่อปรับรมว.ไอซีทีไม่กระทบ
DTAC ยืนยันเข้าประมูล 4G ทั้ง 2 คลื่นตามเงื่อนไข เชื่อปรับรมว.ไอซีทีไม่กระทบ
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า บริษัทฯมีความพร้อมที่จะเข้าประมูล 4G ทั้งคลื่นความถี่ 1800 MHz และคลื่นความถี่ 900 MHz ตามเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนด โดยคาดหวังจะชนะประมูลทั้ง 2 คลื่น เพื่อจะนำทรัพยากรคลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมมาพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งการเข้าถึงและเชื่อมต่อ รวมถึงทำให้เกิดการส่งเสริมสู่มาตรฐานการบริการ กระตุ้นให้ระบบนิเวศด้านโทรคมนาคมมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
โดยบริษัทฯมีเป้าหมายให้บริการอินเตอร์เน็ตครอบคลุมประชากร 80% ภายในปี 60 และยังเป็นการตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ที่ต้องผลักดันให้มีพื้นที่บริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้ครอบคลุมมากที่สุด แต่หากบริษัทฯไม่สามารถชนะการประมูล หรืออาจไม่ได้คลื่นใดคลื่นหนึ่ง แผนการดำเนินงานของบริษัทฯก็จะยังเดินหน้าขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย และพัฒนาการให้บริการลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวอีกว่า สำหรับการคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานจำนวน 4.8 MHz เพื่อนำไปประมูลคลื่น 1800 MHz ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างรอขั้นตอน กระบวนการทางกฎหมายรองรับจากภาครัฐทั้ง กสทช.และกสท โทรคมนาคม ในการเดินหน้าอนุมัติการย้ายคลื่นและเรื่องสัญญาณสัมปทานมาเป็นทางการ เพื่อบริษัทฯจะได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 25 ก.ย.นี้ และเพื่อให้ทันกำหนดการยื่นเอกสารการประมูล ที่กำหนดไว้ในวันที่ 30 ก.ย.58 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออนุมัติอย่างเป็นทางการเพื่อให้ดำเนินการ บริษัทฯก็มีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว เนื่องจากอาจจะส่งผลทำให้การย้ายคลื่นล่าช้าออกไปไม่ทันตามกำหนด
อย่างไรก็ตามบริษัทฯขอเรียกร้องให้ กสทช.เร่งดำเนินการอนุมัติหนังสือออกมาก่อนสิ้นเดือนส.ค.นี้ โดย DTAC ก็จะเร่งดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการรีฟาร์มมิ่งคลื่น ซึ่งก็จะแล้วเสร็จก่อนวันประมูล 4G ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.58
นอกจากนี้ยังรอกระบวนการทางเทคนิคในการที่บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) จะต้องย้ายลูกค้าที่ยังเหลืออยู่บนคลื่นที่หมดสัมปทานเพื่อให้คลื่นว่างออกก่อน และบริษัทฯจะย้ายลูกค้าที่ใช้งานอยู่บนคลื่น 1800 MHz มาแทนที่ ซึ่งปัจจุบัน DTAC มีลูกค้าดังกล่าวเหลืออยู่ราว 7 ล้านราย และ ดีพีซี เหลืออยู่ 5,000 ราย โดยขั้นตอนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน ซึ่งกำหนดเวลาที่กสทช.ได้ระบุไว้ว่าจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 ก.ย.นี้ บริษัทฯมองว่าอาจจะไม่ทันเช่นกัน
สำหรับการปรับเปลี่ยนรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)คนใหม่นั้น เชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประมูล 4G ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐก็มีการออกมาประกาศถึงแผนนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะผลักดันการใช้งานอินเตอร์เน็ตในทุกภาคส่วน รวมไปถึงประชากรทุกพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ส่วนกรณีการกำหนดเพดานถือครองคลื่นของกสทช. บริษัทฯมองว่าสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีระยะเวลาอีก 3 ปี และจำนวนการถือครองไม่เกิน 60 MHz ต่อผู้ประกอบการหนึ่งราย ในประเทศไทยยังไม่สอดคล้องกับแนวทางปฎิบัติ อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการที่ดีต่อประชาชน ซึ่งการกำหนดจำนวนคลื่นดังกล่าวนั้นจะต้องมีการจัดทำแผนการจัดสรรคลื่น หรือ โรดแมปที่ชัดเจน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเร่งรัดให้กำหนดเพดานการถือครองคลื่นในตอนนี้