“พาณิชย์” เผยพิษ “โควิด” ฉุดยอดใช้ FTA 5 เดือนแรก วูบ 16% –GSP หด 3.5%

“พาณิชย์” เผยพิษ “โควิด” ฉุดยอดใช้ FTA 5 เดือนแรก วูบ 16% –GSP หด 3.5% แต่ส่งออกอาหาร-เกษตรแปรรูป โตสวนทาง


นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 26,068.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.53% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 23,980.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,088 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ การใช้สิทธิฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิฯ ส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปในภาพรวมยังขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 23,980.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.87% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.75% ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 8,051.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) จีน (มูลค่า 7,816.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,888.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 2,446.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,445.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (100%) 2) อาเซียน-จีน (89.84%) 3) ไทย-เปรู (89.54%) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (84.30%) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (81.92%)
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-พฤษภาคม 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,088 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 3.52% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.02% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,905.12 ล้านเหรียญ-สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 4.16% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.40%

อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 106.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.68% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 46.18% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 66.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 12.66% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.06% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 10.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 24.01% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.71%

นายกีรติ กล่าวว่า แม้ว่าการใช้สิทธิฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 แต่ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลกยังมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการบริโภคสูงขึ้นในหลายประเทศที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอยู่ โดยสินค้าที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐอเมริกา อาเซียน) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี) ข้าวโพดหวาน (อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (ไทย-ชิลีและอาเซียน-เกาหลี) ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง (อาเซียน-จีน) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ไทย-เปรู) ปลาทูน่า-ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) เต้าหู้ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2563 กรมการค้าต่างประเทศ มีแผนงานที่จะจัดสัมมนาในกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกที่สนใจจะสร้างแต้มต่อและโอกาสในการส่งออกสินค้าด้วยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยภายใต้สถานการณ์การเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19

โดยกรมฯ ได้เตรียมปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมสัมมนาให้เหมาะสมกับยุคสมัยปกติใหม่ (New Normal) โดยจะเลือกจัดกิจกรรมแบบคู่ขนานที่มีผู้เข้าร่วมงานในสถานที่จัดงานจริงแบบไม่แออัด เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดผ่านสัมมนาออนไลน์ (webinars) และการสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook live) โดยผู้เข้าร่วมงานแบบออนไลน์สามารถรับชมและร่วมแสดงความเห็นได้แบบเสมือนเข้าร่วมงานสัมมนาจริง

Back to top button