KTC เล็งขยายฐานลูกค้าเพิ่ม หนุนทั้งปีโตแตะ 1.8 แสนราย พร้อมคุม NPL ต่อเนื่อง
KTC เล็งขยายฐานลูกค้าเพิ่ม หนุนทั้งปีโตแตะ 1.8 แสนราย พร้อมคุม NPL ต่อเนื่อง
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 กลยุทธ์ของสินเชื่อบุคคล KTC จะรุกขยายฐานลูกค้ามากขึ้น หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกหยุดชะงักไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ในเดือนมิ.ย.63 เป็นต้นมาเริ่มมีลูกค้าใหม่เข้ามาสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีฐานลูกค้าสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 891,875 บัญชี และตั้งเป้าจะขยายฐานเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังอีก 100,000 บัญชี เพื่อทำให้ทั้งปี 2563 ฐานลูกค้าใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 160,000-180,000 บัญชีตามเป้าหมาย
สำหรับกลยุทธ์ที่จะใช้ในครึ่งปีหลังของบัตร KTC PROUND จะเป็นรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุค New Normal เพิ่มความสะดวกใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเปิดตัวบัตรกดเงินสด”เคทีซี พราว – ยูเนี่ยน เพย์”พร้อม 4 ฟังก์ชั่น กด-โอน-รูด-ผ่อน สะดวกทุกการใช้งานในบัตรเดียว สามารถทำธุรกรรมรูดซื้อสินค้าและบริการได้ ณ ร้านค้าชั้นนำที่รองรับการทำธุรกรรมด้วยบัตรยูเนี่ยน เพย์ (UnionPay) ทั่วประเทศไทย
1.การโอนเงินเข้าบัญชีทุกธนาคารแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น “KTC Mobile” ภายในไตรมาส 3/63 ที่สมาชิกจะได้รับความสะดวก รับเงินไว พร้อมใช้ทันที ไม่ต้องรอ ไม่ต้องเสียเวลาหาตู้ ATM ลดการสัมผัสเงินสดและการเดินทางไปในที่ชุมชน ในช่วงที่ยังต้องรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 และยังช่วยลดโลกร้อนจากการลดปริมาณการพิมพ์สลิปกดเงิน
2.การพัฒนาฟีเจอร์การใช้งานบนแอปพลิเคชั่น “KTC Mobile” ตอบสนองความคล่องตัวผู้ใช้บัตร โดยสมาชิก “KTC PROUND” สามารถทำรายการได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบแอนดรอยด์และ IOS พร้อมด้วยบริการใหม่เพิ่มวงเงินฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง การเบิกเงินสดออนไลน์แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง และเหนือกว่าด้วยการเบิกถอนเงินสดออนไลน์บนแอปฯ “KTC Mobile” ที่สามารถเลือกทำรายการผ่อนรายงวดได้นานสูงสุด 60 เดือน หรือเลือกชำระแบบขั้นต่ำที่ 3% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การขยายฐานลูกค้าใหม่ในระยะนี้ยังคงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อบางอาชีพที่ยังมีความเสี่ยงด้านรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกดระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งบริษัทจะมีการพิจารณาสินเชื่ออย่างรอบคอบ เพราะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวกลับมา ประกอบกับเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านคุณภาพลูกค้าด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนฐานลูกค้าสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มมากขึ้น แต่แนวโน้มของยอดสินเชื่อบุคคลที่ลูกค้าใช้นั้นคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 3 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรกที่อยู่ในระดับ 3.02 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อใด
อีกทั้ง จากการประเมินของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัมน์คาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7.3-7.8% และยังมีความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 และปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ทำให้ประชาชนต่างชะลอการจับจ่ายใช้สอย และประหยัดเงินมากขึ้น ส่งผลให้ยอดสินเชื่อมีโอกาสเห็นการเติบโตได้ค่อนข้างยาก ทำให้บริษัทยังคงประเมินว่ายอดสินเชื่อบุคคลในสิ้นปีนี้จะยังทรงตัวที่ 3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อบุคคลในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 ตามลำดับ จากสิ้นไตรมาส 2/63 ที่ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 8.5% เนื่องจากบริษัทยังคงเน้นควบคุมคุณภาพหนี้ และพยายามเร่งการตัดจำหน่ายหนี้ให้เร็วขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อทำให้ NPL ของสินเชื่อบุคคลลดระดับลงมาจากสิ้นไตรมาส 2/63 ที่มีการปรับมาตรฐาน TFRS9 เข้ามากระทบผลัดดันให้ NPL พุ่งขึ้น
นอกจากนั้น KTC ยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าในหลากหลายวิธีเพื่อทำให้ลูกค้าไม่เสียเครดิต และช่วยแบ่งเบาภาระของลูกค้า ซึ่งในส่วนของสินเชื่อบุคคลนั้นบริษัทได้ผ่อนผันการชำระหนี้บัตรกดเงินสดเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว อัตราดอกเบี้ย 22% ต่อปี นาน 48 เดือน และเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี นาน 48 เดือน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์อัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทหายไปเฉลี่ย 100 ล้านบาท/เดือน ก็ตาม แต่ถือเป็นการช่วยเหลือลูกค้าของบริษัทให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่เห็นการฟื้นตัวกลับมาของเศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งบริษัทก็ยังคงต้องเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ทำให้รายได้ของเราหายไป ดังนั้นเมื่อรายได้หายไปสิ่งที่เราจะหารายได้เพิ่มเข้ามาทดแทน เราก็ต้องพยายามขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม ทำให้เรากลับมารุกขยายฐานลูกค้าใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้”