“บสย.” คาดโครงการ “ค้ำประกันสินเชื่อ” หนุนเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนเกิน 1.2 แสนราย
“บสย.” คาดโครงการ "ค้ำประกันสินเชื่อ" หนุนเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนเกิน 1.2 แสนราย
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า การผลักดันโครงการต่างๆเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ โดยใช้กลไกการ “ค้ำประกันสินเชื่อ” ผ่านมาตรการของรัฐ และโครงการของ บสย. มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ก้าวผ่านวิกฤติไปได้ด้วยบทบาทของการเป็น “นายธนาคารข้างถนน” ที่มาพร้อมกับภารกิจผลักดันให้ SMEs ต้องชนะ จะช่วยฟื้นวิกฤต SMEs ท่ามกลางสภาพปัญหาของผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คาดว่าจะสามารถอนุมัติยอดค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 150,000 ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า 120,000 ราย
โดยล่าสุด วานนี้ (18 ส.ค.63) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงและเพียงพอ 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan เริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อ ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ “บสย. SMEs ชีวิตใหม่” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียม 1.75%ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.อนุมัติขยายเวลา จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็น สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1 – 2% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี
นอกจากนี้ บสย. ยังดำเนินโครงการช่วยผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs พลิกฟื้นท่องเที่ยว วงเงิน 3,700 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 1,400 ราย 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innobiz วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 2,400 ราย
ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ 12,000 ราย 4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เพิ่มพูน (Direct Guarantee : DG) วงเงิน 1,200 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต โควิด-19 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 240 ราย
นอกจากนี้ บสย.ยังเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเปิดให้บริการให้คำปรึกษาทางการเงิน ครบวงจร ทั้งการขอสินเชื่อ การปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ที่ปรึกษาด้านการเงิน SMEs” (F.A. Center) เพื่อต่อยอดความสำเร็จและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2563
สำหรับผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย.ในรอบ 7 เดือนปี 63 (ม.ค.-ก.ค.) สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยมียอดวงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 115,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167% เทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน มีการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 132,434 ฉบับ เพิ่มขึ้น 223% และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อจำนวน 98,221 ราย เพิ่มขึ้น 222% ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ตามโครงการย่อย ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างไทย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ดีแน่นอน และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs บัญชีเดียว
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-17 ส.ค.63 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บสย.ยังช่วยผู้ประกอบการ SMEs ค้ำประกันสินเชื่อได้จำนวน 117,508 ราย โดยจำแนกลูกค้าตามโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 49,869 ล้านบาท จำนวน 21,004 ราย และโครงการทั่วไปภายใต้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 อีกจำนวน 35,694 ล้านบาท จำนวน 13,143 ราย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ ซึ่งเป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง จำนวน 2,601 ล้านบาท จำนวน 406 ราย และโครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มอาชีพอิสระ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 3 วงเงิน 6,547 ล้านบาท จำนวน 82,955 ราย