UWC เตรียมขาย 3 โรงไฟฟ้าชีวมวลให้ ACE ใน 1-2 สัปดาห์ ลั่นปี 64 พลิกกำไร
UWC เตรียมขาย 3 โรงไฟฟ้าชีวมวลให้ ACE ใน 1-2 สัปดาห์ ลั่นปี 64 พลิกกำไร
นายธีรชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) หรือ UWC เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้(20ส.ค.62) มีมติอนุมัติการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ประกอบด้วย บริษัท ยูดับบลิวซี โกเมน ไบโอแมส (UKB) กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จ.นครราชสีมา, บริษัท ยูดับบลิวซี อำพัน ไบโอแมส (UAB) กำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จ.บุรีรัมย์ และบริษัท สตึก ไบโอแมส (SBM) กำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จ.บุรีรัมย์ รวมกำลังการผลิต 26.9 เมกะวัตต์ มูลค่า 851 ล้านบาท ให้กับบริษัทแอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE โดยคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้หุ้นกู้ก่อนกำหนด 300 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ประมาณ 10 ล้านบาท รวมถึงลดอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นจาก 3.38 เท่า เหลือเพียง 1.74 เท่า ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและโทรคมนาคม
พร้อมกันนี้บริษัทจะหันกลับมามุ่งเน้นธุรกิจหลัก หรือธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและโทรคมนาคม แม้จะมีรายได้และกำไรไม่มากเท่าธุรกิจโรงไฟฟ้า แต่เชื่อมั่นว่าจะทำให้บริษัทไม่มีผลขาดทุนอีก โดยแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลังนี้ บริษัทคาดว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเปิดประมูลงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในช่วงปลายปีนี้ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท คาดหวังได้รับงาน 1 ใน 4 ของมูลค่าทั้งหมด และน่าจะผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและส่งมอบงานได้ในปี 64
ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 200-300 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาทั้งหมดในปีนี้ โดยครึ่งปีแรกมีรายได้แล้วที่ 475.95 ล้านบาท
“การที่เราตัดธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลออกไป จะทำให้เราไม่ต้องแบกรับผลขาดทุนอีก และเราจะได้กลับมาโฟกัสที่ธุรกิจหลัก ที่เรามีความเชี่ยวชาญ แม้ว่ารายได้ กำไรอาจจะเติบโตไม่เท่าธุรกิจโรงไฟฟ้าฯ แต่ก็น่าจะทำได้ใกล้เคียง 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 600-700 ล้านบาท/ปี”นายธีรชัย กล่าว
นายธีรชัย กล่าวว่า หลังจากตัดธุรกิจโรงไฟฟ้าออกไป และปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ทำให้บริษัทคาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปี 64 จากปีนี้คาดว่าจะขาดทุนลดลงต่อเนื่อง หลังครึ่งปีแรกของปี 63 มีผลขาดทุนลดลงมาที่ 193.03 ล้านบาทแล้ว จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 801.30 ล้านบาท เป็นผลจากการลดค่าใช้จ่าย SG&A และการคืนหนี้หุ้นกู้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงไตรมาสละ 5 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสต่อยอดการให้บริการชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อนให้กับผลิตภัณฑ์โครงเหล็กทุกชนิด ซึ่งเป็นงานที่มีมาร์จิ้นสูง รวมถึงมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าอื่นๆ หรือต่อยอดธุรกิจหลักคือเสาส่งไฟฟ้า คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 3-6 เดือนนี้ และมองโอกาสขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ประจำ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าจะทำให้บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้