“ททท.” ชง “ศบค.ศก.” หนุนรัฐ-เอกชน จัดสัมมนา ตจว. กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ
“ททท.” ชง “ศบค.ศก.” หนุนโครงการ "Project Vacation Thailand" ให้หน่วยงานรัฐ-เอกชน จัดสัมมนา ตจว. กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ
น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) นัดแรกที่ผ่านมา ททท.ได้เสนอการกระตุ้นตลาดในประเทศ ได้มีการทำการประชาสัมพันธ์โครงการสนับสนุน “Project Vacation Thailand” โดยสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ หรือหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนไปจัดประชุมสัมมนา Working Outing ในที่ต่างๆทั่วประเทศในวันธรรมดา ราคาพิเศษ คาดว่าครม.น่าจะมีการอนุมัติในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ได้นำเสนอให้ปรับเกณฑ์โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยจะเพิ่มสิทธิให้คนที่ใช้สิทธิห้องพัก 5 คืนครบแล้วสามารถใช้สิทธิได้อีกครั้งจนครบ 10 คืน และเพิ่มเงินช่วยในส่วนของตั๋วเครื่องบิน จากไม่เกิน 1,000 บาทต่อที่นั่ง เพิ่มเป็นไม่เกิน 2,000 บาทต่อที่นั่ง
น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวถึงการสร้างวัคซีนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่า สิ่งที่ต้องมีคือ Trust ความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันโรค และมาตรฐานในการบริการที่ดีเป็นวัคซีนและใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเสริมทำให้เกิดการเดินทางจริงให้ได้ แต่การเดินทางก็ต้องอยู่ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดีที่เรียกว่าความปลอดภัยถึงจะสร้างความมั่นใจได้
น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวถึงความไฮเทคเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวภายใต้คำว่า BEST ได้แก่ B-Booking (in Advance) E-Environmental (Enthusiast) S-Safety (Come firest) และ T-Technology (Enhance Tourist Experience)
“Booking” คือลดความแออัด จะพูดว่า Economy of scale ก็คงจะพูดไม่ได้แล้ว เอาคนเยอะๆ มาเพื่อเพิ่ม Margin แล้วมีกำไรเยอะ ๆ เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการมี Booking คุณได้รู้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการ คุณจะได้บริหาร Margin ของคุณได้
“Environmental” ททท.ให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ตอนนี้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง สังคม และเศรษฐกิจ
“Safety” ส่วนที่เพิ่มขึ้นของ New normal เราคงไม่ได้พูดเรื่องของความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินอย่างเดียวแล้ว แต่รวมไปถึงความปลอดภัยในสุขอนามัย และ ตัวสุดท้าย
“Technology” ทุกคนรู้ดีว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างไร ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวเข้ามาสู่ยุคเทคโนโลยีแน่นอน ส่วนภาครัฐจะเป็น Technology facilitator ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพใหม่ๆ ซึ่งมีศักยภาพมากๆ เข้ามาช่วยปรับจูนให้เข้ากับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและจะเกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ตัวอย่างของสตาร์ทอัพ ได้แก่ V SO TOUR บริการระบบจองที่พัก รถเช่า เรือเช่า และโปรแกรมทัวร์, Rrentconnected รับจองรถเช่าจากผู้ให้บริการรถเช่าทั่วประเทศ, LILUNA แอปพลิเคชั่นสำหรับการเดินทาง