“นพพร” ทวงค่าหุ้น WEH 2.2 หมื่นลบ. ซัดกลับ “ณพ” คดีคาศาลเพียบ!
"นพพร" ทวงค่าหุ้น WEH 2.2 หมื่นลบ. ซัดกลับ "ณพ" คดีคาศาลเพียบ!
สืบเนื่องจากกรณีที่ นายณพ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงความคืบหน้าการนำ WEH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่าที่ผ่านมาได้นำข้อมูลไปปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ กับคณะทำงานของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาโดยตลอด เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่จะได้รับอนุญาตให้ทำ IPO และระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนคดีความมีอยู่กับนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ถือหุ้นเดิม และคดีกับครอบครัวณรงค์เดช ก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีกลยุทธ์การสร้างคดีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อกดดันตน นอกจากนี้ นายณพ ได้มีการระบุว่า หลายคดีได้ยุติไปแล้ว ซึ่งตนเป็นฝ่ายชนะคดีทั้งหมด เช่น คดีอนุญาโตตุลาการ ที่บริษัทของนายนพพร มาฟ้องเพื่อยกเลิกการขายหุ้นให้กับตน อนุญาโตตุลาการก็ตัดสินว่า ยกเลิกการขายหุ้นไม่ได้ หรือคดีที่ฮ่องกงที่บริษัทของนายนพพร และครอบครัวของตนมาฟ้องตน ศาลฮ่องกงได้ยกคดีทิ้งไปทั้งหมดแล้ว
สำหรับคดีอื่นๆ ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งมีทั้งที่บริษัทของนายนพพรไปฟ้องที่ประเทศอังกฤษ และมาฟ้องในประเทศไทย รวมทั้งที่ครอบครัวของตน มาฟ้องในศาลไทยด้วย แต่ก็ยังเชื่อมั่นในข้อเท็จจริงว่า เมื่อศาลในแต่ละคดีได้ฟังทั้งหมดแล้วจะให้ความเป็นธรรมกับตนเอง
ล่าสุดวันนี้ (21 ส.ค.2563) นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี จำกัด ได้ออกมาแถลงข่าวผ่านโปรแกรม ZOOM โดยระบุว่าข้อความที่ นายณพ แถลงข่าวก่อนหน้านี้ว่าเป็นฝ่ายชนะคดีทั้งหมดนั้นเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งนี้ตนจึงขอชี้แจงข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องของคดีอนุโตตุลาการ ดังนี้
- บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ ซิมโฟนี่ ได้ร้องขอต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้มีคำชี้ขาดให้ยกเลิกการขายหุ้นให้แก่บริษัทของนายณพ หรือมิฉะนั้นก็ให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้บริษัทของ นายณพ ชำระค่าหุ้นงวดแรกที่มิได้ชำระให้แก่ซิมโฟนี่ตามสัญญาซื้อหุ้น
โดยในที่สุดคณะอนุญาโตตุลาการก็ได้มีคำชี้ขาดแรกในวันที่ 22 กันยายน 2560 ให้บริษัทของ นายณพ คือบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเมนท์ส จำกัด หรือ ฟุลเลอร์ตัน ชำระค่าหุ้นให้แก่ซิมโฟนี่เป็นเงิน 85,750,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ทางบริษัทได้แจ้งให้บริษัทของ นายณพ ชำระเงินตามคำพิพากษาแต่ได้รับการปฏิเสธ ตามสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ณ วันที่ 22 กันยายน 2560 ระหว่าง บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ส จำกัด (ผู้เรียกร้อง) และ (1) บริษัทฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด (2) บริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จากัด (ผู้คัดค้าน)
- ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้บริษัทของ นายณพ ได้แก่ ฟุลเลอร์ตัน และบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด หรือ เคพีเอ็น ชำระเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือตามสัญญาซื้อหุ้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ให้แก่ซิมโฟนี่ เน็กซ์โกลบอล และไดนามิก ลิ้งค์ ซึ่งนับถึงปัจจุบันยอดเงินคงค้างสุทธิ หักเงินที่ได้รับมาแล้วจำนวน 176,265,279 เหรียญสหรัฐ บวกดอกเบี้ยตามคาพิพากษา รวมเป็นเงิน 580,875,913 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ยังมียอดหนี้ตามสัญญาที่จะทยอยครบกำหนดชำระระหว่างปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าอีกจำนวน 100,000,000 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นเงิน 680,875,913 เหรียญสหรัฐ ตามสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ระหว่าง (1) บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ส จากัด (2) บริษัทเน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จากัด (3) บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จากัด (ผู้เรียกร้อง) และ (1) บริษัทฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนท์ จากัด (2) บริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จากัด (ผู้คัดค้าน)
นอกจากนี้ คณะอนุญาโตตุลาการยังได้มีคำชี้ขาดให้ฟุลเลอร์ตันและเคพีเอ็นชำระเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้แก่ค่าทนายความให้แก่บริษัทเป็นเงิน 5,438,588 ยูโร และชำระค่าใช้จ่ายสำหรับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ICC ที่บริษัทได้ชำระไปเป็นเงิน 498,600 เหรียญสหรัฐ ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายรวมกันแล้วคิดเป็นเงินไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 228 ล้านบาท ตามสำเนาคำตัดสินชี้ขาดสุดท้าย (ค่าใช้จ่าย/ ค่าธรรมเนียม) ของอนุญาโตตุลาการ ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ระหว่าง (1) บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ทเนอร์ส จำกัด (2) บริษัทเน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด (3) บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด (ผู้เรียกร้อง) และ (1) บริษัทฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนท์ จากัด (2) บริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จากัด (ผู้คัดค้าน)
ทั้งนี้ การที่คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้บริษัทของ นายณพ ชำระเงินค่าทนายความและค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทเป็นเงินถึงกว่า 228 ล้านบาทนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว นายณพ นั้นเป็นฝ่ายแพ้คดี จึงเป็นเหตุให้ต้องรับผิดในค่าทนายความและค่าใช้จ่ายของบริษัทในการดำเนินคดีอนุญาโตตุลาการ
ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า นายณพ ซึ่งอ้างว่าชนะคดีอนุญาโตตุลาการกลับดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลสูงของประเทศสิงคโปร์ให้มีคาสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งล่าสุดปรากฏว่าศาลสูงแห่งประเทศสิงคโปร์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำร้องดังกล่าว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่บังคับให้บริษัทของ นายณพ ชำระเงินให้แก่บริษัทนั้น จึงได้รับคำรับรองจากศาลสูงแห่งประเทศสิงคโปร์ว่าเป็นคำชี้ขาดที่ถูกต้อง
ดังนั้น นายณพ จึงเป็นผู้แพ้คดีและไม่ได้ชนะคดีดังที่ตนกล่าวอ้าง ตามสำเนาคำตัดสินจากศาลสูงของประเทศสิงคโปร์วันที่ 16 กรกฏาคม 2563 ระหว่าง (1) บริษัทฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด (CBX) (2) บริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (CBY) (“ผู้เรียกร้อง”) และ (1) บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด (CBZ), (2) บริษัทเน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด (CCA), (3)บริษัทไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด (CCB) (“ผู้คัดค้าน”)
ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทจะได้รับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ได้รับชำระเงินจากบริษัทของนายณพเป็นจำนวนนับหมื่นล้านบาทก็ตาม แต่บริษัทลูกหนี้ทั้งสองก็ไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเพราะนายณพได้ดำเนินการให้มีการโอนหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี อันเป็นหุ้นที่บริษัทของ นายณพ ที่แพ้คดีอนุญาโตตุลาการมีส่วนในการเป็นเจ้าของ ไปเป็นทอดๆ จนกระทั่งได้โอนให้แก่บริษัท โกลเด้น มิวสิค ซึ่งจดทะเบียนที่ฮ่องกง บริษัทจึงได้ดำเนินการขอให้ศาลฮ่องกงมีคำสั่งอายัดหุ้นดังกล่าวโดยไม่ได้ฟ้องนายณพเป็นคดีแต่อย่างใด
ด้านศาลฮ่องกงได้มีคำสั่งตามที่บริษัทร้องขอ และต่อมาเมื่อบริษัทได้ฟ้องนายณพ โกลเด้น มิวสิค และบุคคลอื่นต่อศาลในประเทศอังกฤษว่ากระทำละเมิดต่อบริษัทเกี่ยวกับการโอนหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี และเรียกร้องให้จำเลยในคดีนั้นชำระเงินให้แก่บริษัทคิดเป็นเงินไทยจำนวนหลายหมื่นล้านบาท
โดยบริษัทได้ขอให้ศาลอังกฤษออกคาสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวต่อจากศาลฮ่องกงที่เคยมีคำสั่งอายัดหุ้นไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้นคำสั่งอายัดหุ้นของศาลฮ่องกงจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ อีกต่อไป อีกทั้งบริษัทไม่เคยฟ้องคดีในฮ่องกง ดังนั้นคำกล่าวของนายณพที่ว่า “ศาลฮ่องกงได้ยกคดีทิ้งไปทั้งหมดแล้ว” จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม บริษัทขอชี้แจงว่า หากบริษัทชนะคดีในศาลอังกฤษต่อโกลเด้น มิวสิคแล้ว บริษัทก็จะดำเนินการบังคับชำระหนี้เอากับหุ้นที่โกลเด้น มิวสิค ถืออยู่ในวินด์ เอนเนอร์ยี โดยการบังคับขายทอดตลาด เมื่อนั้นโกลเด้น มิวสิค ย่อมพ้นสภาพความเป็นผู้ถือหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี บริษัทจึงใคร่ขอให้ผู้เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาว่า การที่หุ้นวินด์ เอนเนอร์ยีที่โกลเด้น มิวสิคถืออยู่ในสัดส่วนร้อยละ 40 อาจต้องเปลี่ยนมือไปเป็นของบุคคลอื่นโดยผลของการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลอังกฤษนั้น จะไม่มีผลใดๆ ต่อการตัดสินใจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์