“อาเซียน” เร่งขยายความร่วมมือ 7 สาขาพลังงาน เสริมความมั่นคง-กระตุ้น ศก. กู้วิกฤต “โควิด”

"กุลิศ สมบัติศิริ" ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า "อาเซียน" ผลักดันร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 เร่งขยายความร่วมมือ 7 สาขา เสริมความมั่นคงทางพลังงาน-กระตุ้นเศรษฐกิจ กู้วิกฤต "โควิด"


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 38th Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings : The 38th SOME) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 สิงหาคม 2563 ไทยได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ให้ประเทศเวียดนามประธานอาเซียนปี 2563

โดยเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2563 นี้ และการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุม SOME รูปแบบออนไลน์ ที่ถือเป็น New Normal จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักที่จะผลักดันร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation : APAEC Phase 2) 2021-2025 (พ.ศ.2564-2568) ซึ่งแผนนี้เป็นแผนใหม่ที่ต่อเนื่องจากแผนระยะที่ 1 เพื่อที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้นำแผนปฏิบัติการนี้ไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเริ่มตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ภายใต้ 7 สาขาความร่วมมือ ดังนี้

1.ความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) การขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอาเซียน

2.ความร่วมมือด้านปิโตรเลียม (Trans ASEAN Gas Pipeline: TAGP) ที่ประชุมเห็นชอบการพัฒนาตลาดร่วมก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค (Common Gas Market) และการเชื่อมโยงขยายการซื้อขายก๊าซธรรมชาติโดยใช้ Small Scale LNG พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ก๊าซ ในการเดินเรือ หรือ LNG Bunkering

3.ความร่วมมือด้านถ่านหิน (Coal and Clean Coal Technology: CCT) ที่ประชุมเห็นชอบและพร้อมที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานถ่านหินสะอาดอาเซียน (ASEAN Coal Centre of Excellence) ณ ประเทศอินโดนีเซีย และระบบข้อมูลพลังงานถ่านหินอาเซียน (ASEAN Coal Data and Information System: ACDIS)

4.ความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency & Conservation: EE&C) ที่ประชุมเห็นชอบการเพิ่มเป้าการลดความเข้มการใช้พลังงานจากที่กำหนดไว้เดิม 30% เป็น 32% ภายในปี 2568 เนื่องจากในปัจจุบันประเทศสมาชิกได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว 24.4% ในปี 2562

5.ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) ที่ประชุมเห็นชอบเป้าสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 23%ทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด (Total Primary Energy Supply) และ 35%ทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด (Installed Power Capacity) ในปี 2568 เป้าที่กำหนดเป็นเป้าหมายที่ท้าทายประเทศสมาชิกอาเซียนเนื่องจากในปี 2561 อาเซียนดำเนินการได้เพียง 13.3% เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด (Total Primary Energy Supply) และ 27.1% เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด (Installed Power Capacity)

ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งจากพลังงานทดแทน 11,890 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 18% ของกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของทั้งอาเซียน และมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งมากที่สุดในอาเซียน และมีการใช้เอทานอลอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.22 ล้านลิตรต่อวัน

6.ความร่วมมือด้านนโยบายและแผนพลังงานอาเซียน (Regional Energy Policy & Planning: REPP) จัดทำ ASEAN Energy Outlook ฉบับที่ 7 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะพิจารณาแนวทางการเพิ่มการค้าการลงทุนด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นการเพิ่มเติมด้วย

7.ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ (Civilian Nuclear Energy: CNE) ที่ประชุมสนับสนุนการสร้างความร่วมมือด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียนสำหรับประชาชนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างขีดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือเชิงเทคนิคและเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ มุ่งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่สาธารณชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค

นอกจากนี้ อาเซียนจะได้ประชุมหารือร่วมกับประเทศคู่เจรจา อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย เป็นต้น เกี่ยวกับความร่วมมือในการเชื่อมโยงทางพลังงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของอาเซียน รวมถึงการหารือกับองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) โดยจะนำผลการประชุมที่ได้เข้าสู่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนซึ่งจะมีขึ้นช่วงปลายปี 2563 ต่อไป

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในวันพรุ่งนี้ (26 ส.ค.) จะพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนฯปี 2563 วงเงินที่เหลือ 5,600 ล้านบาท รวมทั้งกรอบวงเงินกองทุนฯปี 2564 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจะเน้นไปที่การสร้างงาน สร้างรายได้ ตามนโยบบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน

 

Back to top button