ดัชนี MPI ก.ค.63 โต 3.12% เทียบกับเดือนก่อน ส่งสัญญาณภาคการผลิต ฟื้นตัวต่อเนื่อง
"สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม" (สศอ.) เผยดัชนี MPI ก.ค.63 โต 3.12% เทียบกับ มิ.ย. ส่งสัญญาณภาคการผลิต ฟื้นตัวต่อเนื่อง
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.47 หดตัว -14.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ MPI ในเดือนก.ค.63 ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ หดตัว -53.3% กลุ่มการกลั่นปิโตรเลียม หดตัว -8.1% และน้ำตาล หดตัว -57.4%
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.ค.63 อยู่ที่ 56.01%
สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) MPI หดตัว -13.13%
นอกจากนี้ สศอ. ยังได้ปรับคาดการณ์ MPI ปีนี้เป็น -8 ถึง -9% จากเดิมที่คาดไว้ -6 ถึง -7% รวมทั้ง GDP ภาคอุตสาหกรรม คาดหดตัว -8 ถึง -9% จากเดิมคาด -5.5 ถึง -6.5%
อย่างไรก็ตาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค.63 ที่หดตัว -14.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว แต่เป็นการหดตัวที่น้อยกว่าเดือนก่อน สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2
แต่หากเทียบกับเดือน มิ.ย.63 แล้วจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.12% โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ในขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศ ที่มีทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศจีนได้ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง อุตสาหกรรมบางประเภทต้องขาดชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น จีน ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้รับผลอานิสงส์
“ประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านของแรงงานฝีมือ และการควบคุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ดี สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะย้ายเข้ามาใหม่ได้ รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การเตรียมความพร้อมในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ทันที” นายสุริยะ กล่าว
ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการแล้วเกือบทั้งหมด
โดยเมื่อพิจารณาดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีทิศทางเป็นไปตามสถานการณ์การผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และมีแนวโน้มติดลบน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะการหยุดผลิตในประเทศที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเปลี่ยนคำสั่งซื้อมายังไทย ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มปรับแผนการผลิต โดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์หลังจากที่ประเทศไทยมีการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดี
นายทองชัย กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหลักมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.70% อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ขยายตัว 0.70% ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ได้เริ่มกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ขยายตัว 24.5% จากเดือนมิ.ย. โดยตลาดในประเทศขยายตัว 2.30% หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนก.ค. ได้แก่ เบียร์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.96% เนื่องจากผู้ประกอบการได้เร่งผลิตเพื่อชดเชยในช่วงล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังกิจการร้านค้า ร้านอาหารและสถานบันเทิงกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง
ปุ๋ยเคมี ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 48.23% โดยในปีก่อนได้เกิดภัยแล้ง ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้อย ในขณะที่ปีนี้ฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติจึงมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.68% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหลังจากคลายล็อกดาวน์ในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่างญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.53% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและบริสุทธิ์ เนื่องจากสภาพอากาศฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้ปาล์มน้ำมันมีเปอร์เซ็นต์ดีและสกัดน้ำมันได้ปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน (ไบโอดีเซล) และการใช้น้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภคมีเพิ่มขึ้น