ตลท.ชูศักยภาพ 4 ด้านพาตลาดทุนไทยฝ่า “โควิด” แนะปรับตัวรักษาสมดุลสู่ New Normal
ตลท.ชูศักยภาพ 4 ด้านพาตลาดทุนไทยฝ่า "โควิด" แนะปรับตัวรักษาสมดุลสู่ New Normal
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในพิธีเปิดงาน Thailand Focus 2020: Resiliency to Move Forward ว่า การระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและชะงักงันของเศรษฐกิจโลก โดยการแพร่อย่างรวดเร็วทำให้เกิดความตระหนกในทุกระดับชั้น ตลท.ใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงว่าตลาดทุนของไทยมีความแข็งแกร่งและทนทานต่อวิกฤตนี้อย่างไร และบริษัทต่างๆของไทยได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองเข้าสู่โลก New Normal ไปอย่างไรบ้าง
โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 และภาวะของเศรษฐกิจโลกทำให้ตลาดทุนปั่นป่วน ดัชนี SET ร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือนมี.ค.และเม.ย.ที่ผ่านมา แต่ด้วยปัจจัยแห่งความแข็งแกร่งทนทานของตลาดทุนไทย ทำให้สามารถผ่านพ้นช่วงยากลำบากนั้นมาได้ด้วยดี โดยดัชนี SET ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากผู้ป่วยโควิดรายแรกที่ยืนยันในประเทศเมื่อวันที่ 31 ม.ค.63 ทำให้ดัชนี SET ร่วงลงถึง 37% และดีดกลับมาในปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และแตะระดับใกล้กับก่อนวิกฤตในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
ขณะที่ประเทศไทยกำลังผ่อนคลายในธุรกิจต่างๆให้กลับมาประกอบการได้เช่นเดิม รวมทั้งอนุมัติให้มีการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้อย่างจำกัด ดัชนีของตลาดและอุตสาหกรรมต่างๆได้เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งที่สุดจะอยู่ในภาคผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนโควิด-19 และภาคอื่นๆไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิจิทัล, โลจิสติกส์ และบริการสุขภาพ ต่างก็มีศักยภาพสูงในโลกแห่ง New Normal นี้
สำหรับปัจจัยความแข็งแกร่งอีกด้านมาจากโอกาสที่มีอยู่มากมาย ในช่วงเวลาที่ IPO ใหม่ๆที่เคยถูกเลื่อนออกไปในช่วงการระบาดโคิด-19 ที่รุนแรง ตอนนี้ได้เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากที่ธุรกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าจะมีความชะงักงันจากโรคระบาด แต่ก็มีการระดมทุนในตลาดสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบได้กับระดับของหลายปีที่ผ่านมา และตอนนี้ก็ยังมีหลักทรัพย์ถึง 30 ตัวที่กำลังรอเปิดตัวอยู่
และปัจจัยสุดท้ายมาจากความกระตือรือร้นในการลงทุนในตลาดตราสารทุน ในขณะที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ บรรดานักลงทุนท้องถิ่นก็กลับมาคึกคัก มีการเข้ามาซื้อขายในตลาดของนักลงทุนรายย่อยพุ่งขึ้น และฉุดให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์/วันในปีนี้ โดยที่ในช่วงครึ่งแรกปีแรกของปี 63 มีบัญชีซื้อขายรายย่อยเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 190,000 บัญชี หรือ 34% จากสิ้นปี 62
นอกจากนี้การเกิดโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทต่างๆต้องคิดหายุทธศาสตร์ใหม่ สร้างฐานรายได้ใหม่ รวมทั้งหาแนวทางในการก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal แบ่งเป็น 2 มุมมอง ได้แก่ มุมมองการปรับตัว และมุมมองความยั่งยืน
ด้านมุมมองการปรับตัวสำหรับบริษัทที่ต้องการอยู่รอดจากปัญหาที่ท้าทายในอนาคต จึงหาแนวทางที่ทำให้สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อสนองตอบต่อภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจความคิดเห็นของตลท.ที่ทำเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นเห็นว่าบริษัทของไทยนั้นมีความสามารถในการปรับตัวใน 4 ด้าน
ด้านแรก เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ให้เหมาะกับยุค New Normal เช่น อีคอมเมิร์ซ การวิเคราะห์ข้อมูล การปรับปรุงมาตรฐานสุขอนามัยถูกนำเข้ามาเพื่อให้สินค้าและบริการนั้นถูกส่งไปยังกลุ่มลูกค้าโดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพใดๆก็ตาม ด้านที่ 2 บริษัทต่างๆได้มีกระบวนการปรับตัวเพื่อประกันความต่อเนื่อง ความเชื่อมโยง และการเข้าถึงบริการทั้งหลายที่มีอยู่
ด้านที่ 3 คือ การพิจารณาถึงสภาพคล่องของกระแสเงินสด และการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ รวมไปถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ด้านที่ 4 เป็นการบริหารคน ซึ่งถือเป็นกลยุทธที่สำคัญสำหรับบริษัทที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของบริษัทในโลก New Normal บริษัทต่างๆได้มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีความสุขและปลอดภัย เช่น แพลตฟอร์มที่ทำให้สามารถทำงานได้ทุกที่ การประชุมออนไลน์ หรืออื่นๆที่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกในการทำงานของพนักงาน
ขณะที่มุมมองด้านความยั่งยืนนั้น บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯยอมรับแนวทาง ESG และความยั่งยืนเข้ามาในการดำเนินงานแล้ว ที่เป็นเหมือนหนึ่งว่าบริษัทเหล่านั้นได้ออกไปแข่งขันในระดับโลกผ่านลงทุนในตลาดต่างๆทั่วโลกที่สามารถใช้ความยั่งยืนในการลงทุนได้
ทั้งนี้เป็นเวลา 6 ปีติดต่อกันแล้วที่ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) มากที่สุดในบรรดา บจ.ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ บจ.ของไทยก็มีคะแนนสูงสุดใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมของดัชนี DJSI
และเพื่อที่จะส่งเสริม บจ.ไทยให้รับ ESG และความยั่งยืน เข้ามาเป็นกลยุทธการดำเนินงานหลัก ทางตลท.ได้ออก Thailand Sustainability Investment Index (THSI) เพื่อเป็นดัชนีวัดคุณค่าของบริษัทต่างๆว่าผ่านมาตรฐานแห่งความยั่งยืนหรือไม่ และมีรายชื่อในดัชนีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 51 บริษัทในปี 59 มาเป็น 98 บริษัทในปี 62 และมีมูลค่าทางหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) รวมกันถึง 356 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 65% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
ทั้งนี้ในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปยังมีความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้นทั่วโลกโดยไม่มีคำเตือน ทุกคนจะต้องพยายามรักษาสมดุลแห่งความกังวลเรื่องสุขภาพ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับตัวสู่ New Normal รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งตลท.เชื่อว่าบจ.ไทยต่างก็พร้อมจะยกระดับขึ้นเพื่อให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และทำให้ทุกคนในโลกเห็นถึงโอกาสมากมายในประเทศไทย ท่ามกลางความท้าทายที่หลากหลาย รวมทั้งความแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้