“รฟท.-ทล.” เซ็น MOU ตอกเสาเข็มทางหลวง สร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มต้นปี 64

“รฟท.-ทล.” เซ็น MOU ตอกเสาเข็มทางหลวง สร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มต้นปี 64


นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้พื้นที่เขตทางหลวงในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่าง นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) โดยมี นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนายพรเจริญ ธนานาถ ผู้แทนจากบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จะใช้พื้นที่เขตทาง รฟท.ในการก่อสร้างนอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่ต้องพื้นที่เวนคืนและพื้นที่บางส่วนเป็นของหน่วยงานราชการ ซึ่งในการทำเอ็มโอยูระหว่าง รฟท.กับกรมทางหลวง ในการใช้พื้นที่ของกรมทางหลวง เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นไปตามแผนงาน ในต้นปี 2564

นายสราวุธ กล่าวว่า แนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ของกรมทางหลวงใน 4 จังหวัด คือ  กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี ,ระยอง จำนวน 29 จุด จำนวน 19 เส้นทาง เป็นโครงข่ายของถนนที่มีในปัจจุบัน 16 เส้นทาง โครงข่ายในอนาคต 3 เส้นทาง ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างได้แก่ ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา ,วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (M91) และ  มอเตอร์เวย์ 3  (M61) สายแหลมฉบัง-ฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา ซึ่งจะเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา  โดยปัจจุบันได้เคลียร์ พื้นที่ได้แล้วจำนวน 15 จุด  จากทั้งหมด 29 จุด ส่วนที่เหลือ 14 จุดนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ โครงข่ายในอนาคต

“ได้มอบให้นายอภิชาติ จันทรทรัพย  รองอธิบดี กรมทางหลวง เป็นหัวหน้าทีมคณะทำงานของกรมทางหลวง  ซึ่งได้ทยอยกำหนดตำแหน่งที่จะลงตอม่อของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจุดตัดระหว่างถนนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่ได้เป็นการใช้พื้นที่กรมทางหลวงตลอดแนว ซึ่งในการออกแบบด้านวิศวกรรมไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนจุดที่อยู่ในโครงข่ายอนาคตจะเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุป ซึ่งหลักการสำหรับจุดที่อยู่ในพื้นที่โครงข่ายในอนาคตนั้น จะให้โครงการที่เกิดก่อนดำเนินการส่วนโครงการที่มาทีหลังจะออกแบบเบี่ยงแนวให้เป็นไปตามพื้นที่”

ทั้งนี้ กรมทางหลวงยินดีให้ความร่วมมือในการให้ใช้พื้นที่ไม่น่ามีปัญหาและไม่เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง และไม่มีค่าใช้พื้นที่ใดๆ เนื่องจากเป็นกิจกรรมของรัฐ แต่ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเงื่อนไขนแนวบันทึกข้อตกลงนี้ ซึ่งภายหลังการใช้พื้นที่กรมทางหลวงแล้วเสร็จ รฟท. จะต้องดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม แก้ไข พื้นผิวการจราจร ระบบระบายน้ำต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ก่อนส่งมอบทางคืนให้กับกรมทางหลวง  และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างด้วย

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าฯรฟท. กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า กล่าวว่าขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างซึ่งพื้นที่ของกรมทางหลวงเป็นส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค รื้อย้ายผู้บุกรุก ซึ่งตามแผนงานเร่งรัดที่กำหนดไว้ รฟท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนภายในเดือนม.ค. 2564 โดยเนื่องจาก ยังติดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การส่งมอบออกไปเป็น ก.พ.-มี.ค. 2564 หรือล่าช้า 2-3 เดือน แต่ทั้งนี้ยังไม่เกินกำหนดการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ภายใน 2 ปี หลังลงนามสัญญาหรือภายในเดือนต.ค.64

สำหรับการรื้อย้ายสาธารณูปโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประปา ไฟฟ้า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมชลประทาน กองทัพเรือ อีกด้วยได้เสนอของบประมาณปี 2564 จำนวน 4,100 ล้านบาท ส่วนการย้ายผู้บุกรุก พื้นที่เขตทางรถไฟนั้น จากที่มีสำรวจตลอดแนวเส้นทาง พญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีประมาณ 560 กว่าราย ซึ่งปัจจุบันได้มีกาเจรจาไกล่เกลี่ยให้ออกนอกพื้นที่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.พ. 64

Back to top button