“รฟม.” เปิดเวที เช็กเสียงเอกชน ลงทุนรถไฟฟ้าโคราช 7 พันลบ. ก่อนลุยชงบอร์ด ภายในปีนี้
“รฟม.” เปิดเวที เช็กเสียงเอกชน ลงทุนรถไฟฟ้าโคราช 7 พันลบ. ก่อนลุยชงบอร์ด ภายในปีนี้
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจ (Market Sounding) ครั้งที่ 2 ของภาคเอกชน (กลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการ) ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)
โดยระบุว่า รฟม. จะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มไปประกอบการจัดทำแนวทางการร่วมลงทุนของโครงการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม.ภายในปีนี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่เกินกลางปี 64 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2562 ใช้เวลาประมาณ 1 ปีลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนส.ค. 65 เปิดให้บริการปลายปี 68
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะใช้รูปแบบ PPP-Net Cost มูลค่าลงทุนรวม 7,115.48 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,180.21 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา 2,254.70 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 2,260.36 ล้านบาท ค่างานจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 995.54 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาและควบคุมงานก่อสร้าง 176.59 ล้านบาท ค่า Provisional Sum 240.08 ล้านบาท ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (ส.ค.65-พ.ย.68) เปิดบริการพ.ย.68 ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
โดยเส้นทางสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นลำดับแรกที่โครงการนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) ระยะทางประมาณ 11.15 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 21 สถานี กำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท + 1 บาท/กม. คาดสูงสุด 21 บาท ประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ 9,920 คน/วัน ในปีแรกที่เปิดให้บริการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.11% ระยะเวลาคืนทุน 11 ปี ซึ่งเอกชนสามารถเสนอการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่สถานีและอาคารจอดรถได้
แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีมิตรภาพ 1, สถานีสามแยกปักธงชัย, สถานีมิตรภาพ 2, สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, สถานีสวนภูมิรักษ์, สถานีหัวรถไฟ, สถานีเทศบาลนคร, สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง, สถานีโพธิ์กลาง, สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, สถานีแยกประปา, สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา, สถานีราชภัฏฯ, สถานีราชมงคล, สถานีบ้านเมตตา, สถานีบ้านนารีสวัสดิ์, สถานีชุมพล, สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา, สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์, สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง
โดยมีการเวนคืนพื้นที่ 2 จุด คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ บริเวณบ้านนารีสวัสดิ์ ประมาณ 25 ไร่ (40,000 ตารางเมตร) และจุดจอดแล้วจณ (Park & Ride) ใกล้ตลาดเซฟวัน