ด่วน! กมธ.วิสามัญ มติเอกฉันท์ 63:0 ตัดงบซื้อเรือดำน้ำ ปี 64 ให้เลื่อนผ่อนจ่ายงวดแรก
ด่วน! กมธ.วิสามัญ มติเอกฉันท์ 63:0 ตัดงบซื้อเรือดำน้ำ ปี 64 ให้ "กองทัพเรือ" เลื่อนผ่อนจ่ายงวดแรก พร้อมหาทางเจรจาจีน
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง เห็นชอบให้ตัดงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงินรวม 22,500 ล้านบาท ตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ (ทร.) ออกไป
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แจ้งต่อที่ประชุมว่า กองทัพเรือได้ทำหนังสือมายังคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายพอที่จะนำไปสู่ความมั่นใจได้
ดังนั้น จึงจะขอเลื่อนการชำระเงินออกไป โดยยอมให้ตัดลดงบจำนวน 3,925 ล้านบาท ออกจากงบประมาณในปี 2564 โดยกองทัพเรือ และกระทรวงกลาโหมจะไปเจรจากับประเทศผู้ผลิต เพื่อให้มีเรือดำน้ำต่อไปในอนาคต
นายสันติ ระบุว่า จากการสอบถามและพูดคุยกับกรรมาธิการฯต่างมีความเห็นตรงกันว่ากรณีเรือดำน้ำมีความจำเป็น และเห็นว่าจำนวน 3 ลำน้อยไปด้วยซ้ำ เนื่องจากไทยมีทะเลอยู่ 2 ฝั่ง ซึ่งมีพื้นที่ติดกับทะเลหลายพันกิโลเมตร และไกลออกไปก็มีพื้นที่ทับซ้อนด้านความมั่นคง และในเรื่องเรือดำน้ำ 2 ลำนี้ได้ผ่านมาในงบประมาณปี 2563 แล้วแต่ด้วยความปรารถนาดีที่กองทัพเรือ เห็นแก่ประชาชน ได้ส่งงบประมาณส่วนนั้นคืน เพื่อให้รัฐบาลนำเงินมาใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19
แต่แนวโน้มปี 2564 ปรากฏว่าโควิด-19 ก็ยังไม่คลี่คลายจนนำไปสู่ความมั่นใจ กมธ.วิสามัญ เห็นว่าแม้เรือดำน้ำมีความจำเป็น แต่ยังไม่เหมาะในเวลานี้ เพราะโควิด-19 อาจเกิดการระบาดรอบสองได้ จึงขอให้กองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม และรัฐบาล ขอเลื่อนงบประมาณเพื่อจะไปจ่ายในปีถัดไป
ทางกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือได้แจ้งมายังคณะกรรมาธิการว่าในปี 2564 กองทัพเรือยินดีให้ปรับงบประมาณจำนวน 3,925 ล้านบาทในส่วนที่จะต้องไปจ่ายออกไปก่อนให้เป็นศูนย์ และให้กองทัพเรือไปใช้งบประมาณในปีถัดไปตามเห็นสมควร และให้กองทัพเรือไปเจรจากับทางผู้ผลิตว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรในการทำให้ประเทศไทยมีเรือดำน้ำตามความประสงค์ แต่ในปีงบประมาณ 2564 นั้นให้เลื่อนไปก่อน สรุปคือปีนี้ ก็เลื่อนงบประมาณก้อนแรกในการที่จะไปจ่าย
ด้านพลเรือโทธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารเรือ ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อขอปรับลดงบประมาณการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ ในงวดปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3,925 ล้านบาท เนื่องจากคำนึงถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้การปรับลดงบประมาณครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผนงานของกองทัพเรือ และก็จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม แต่กองทัพเรือก็ตระหนักถึงความจำเป็นตามสถานการณ์ของประเทศ และเห็นว่าการเลื่อนจัดซื้อเรือดำน้ำ มีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จึงยอมปรับลดงบประมาณ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า ได้สั่งการและมอบแนวทางให้กองทัพเรือในฐานะคู่สัญญาไปเจรจากับทางการจีนเพื่อขอชะลอการจัดซื้อและขอยืดระยะเวลาการชำระเงินไปในปีหน้า พร้อมยืนยันว่าไม่สามารถยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ เนื่องจากอยู่ในแผนการพัฒนาของกองทัพ และเพื่อประโยชน์ในการฝึกร่วม รวมทั้งใช้ป้องกันและรักษาทรัพยากรทางน้ำของประเทศไทย
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งให้ชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำ เสมือนว่านายกรัฐมนตรีใช้อำนาจครอบงำฝ่ายนิติบัญญัตินั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้ให้แนวทางกับกองทัพเรือ เพราะเห็นว่าขณะนี้อาจมีปัญหาติดขัด จึงควรไปเจรจากับทางการจีน และเรื่องนี้มีข้อสัญญาที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามกติกาที่มีอยู่ พร้อมย้อนถามว่า เหตุใดจึงไม่คิดว่าฝ่ายนิติบัญญัติมาก้าวล่วงฝ่ายบริหารบ้าง