สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P500 ต่างก็ปิดทำนิวไฮ โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นได้ประโยชน์จากการที่ประชาชนต้องทำงานจากที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นหุ้น Zoom Video Communications นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,645.66 จุด เพิ่มขึ้น 215.61 จุด หรือ +0.76% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,939.67 จุด เพิ่มขึ้น 164.21 จุด หรือ +1.39% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,526.65 จุด เพิ่มขึ้น 26.34 จุด หรือ +0.75%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) โดยลดลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน หลังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่อ่อนแอ และจากการร่วงลงของตลาดหุ้นอังกฤษแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน แต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด เนื่องจากหุ้นของบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ของแอปเปิล อิงค์ ปรับตัวขึ้นขานรับข่าวแอปเปิลวางแผนผลิตโทรศัพท์ iPhone เพิ่มขึ้น
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.35% ปิดที่ 365.23 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,938.10 จุด ลดลง 9.12 จุด หรือ -0.18% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,862.05 จุด ลดลง 101.52 จุด หรือ -1.70% แต่ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,974.25 จุด เพิ่มขึ้น 28.87 จุด หรือ +0.22%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) สู่ระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 3 เดือน โดยถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรหลังตลาดปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุดในเดือนส.ค.ในรอบ 6 ปี นอกจากนี้ เงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นถ่วงหุ้นกลุ่มส่งออกร่วงลงด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,862.05 จุด ร่วงลง 101.52 จุด หรือ -1.70%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) ขานรับดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐและจีนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือนส.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 15 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 42.76 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 45.58 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำสามารถปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาทองยังคงมีแนวโน้มขาขึ้น โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกหลายปี
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 1,978.9 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.ปีนี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 5.1 เซนต์ หรือ 0.18% ปิดที่ 28.645 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 14.8 ดอลลาร์ หรือ 1.58% ปิดที่ 952.7 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 31.80 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 2,311.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งในเดือนส.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.21% แตะที่ระดับ 92.3572 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.96 เยน จากระดับ 105.87 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9094 ฟรังก์ จากระดับ 0.9032 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3074 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3027 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1907 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1935 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3377 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3376 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7367 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7387 ดอลลาร์สหรัฐ