“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ส.ค. ขยายตัว 0.29% หลังคลายล็อกกระตุ้นใช้จ่าย-ราคาอาหารสดสูงขึ้น

“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ส.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อน 0.29% หลังคลายล็อกกระตุ้นใช้จ่าย-ราคาอาหารสดสูงขึ้น


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ 102.29 หดตัว -0.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.63 ขยายตัว 0.29% โดยเป็นการหดตัวน้อยสุดในรอบ 6 เดือน และเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) หดตัว -1.03%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ส.ค.63 อยู่ที่ 102.92 ขยายตัว 0.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และทรงตัวจากเดือน ก.ค. ส่วน 8 เดือน(ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัว 0.33%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.63 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักสดที่มีราคาสูงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากปริมาณฝนตกชุก และความต้องการเนื้อสุกรยังสูงต่อเนื่องทั้งจากตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ

ขณะที่สินค้าราคากลุ่มพลังงานเริ่มทรงตัว แต่ยังต่ำกว่าปีก่อน สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณสินค้า ความต้องการ และการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนส.ค. สูงขึ้น 0.30%

น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทานและอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยด้านอุปทานสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ด้านอุปสงค์ สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผัก กลุ่มน้ำมันพืช กลุ่มธัญพืช และกลุ่มปศุสัตว์ รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

          “ปัจจัยสำคัญที่เหลือของปีนี้ คือ เรื่องราคาอาหารสด และมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่จะออกมา…ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้จะมีบางส่วนยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาก เช่น ภาคก่อสร้าง อสังหาฯ แต่ภาคเกษตรจะเห็นว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังติดลบต่อเนื่อง แต่ละติดลบในอัตราที่ลดลง เพียงแต่เฉพาะในเดือนก.ย.อัตราเงินเฟ้ออาจติดลบมากกว่าเดือนส.ค. เนื่องจากฐานปีก่อนสูง

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ที่มีแนวโน้มหดตัวน้อยลง มีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ความต้องการบริโภคที่เริ่มดีขึ้นจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ และราคาอาหารสดหลายชนิดที่ปรับตัวสูงกว่าปีก่อนตามสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่แปรปรวน ประกอบกับราคาฐานสินค้าหลายชนิดในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปี 63 ที่ -1.5 ถึง -0.7% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ -8.6 ถึง -7.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.50-32.50 บาท/ดอลลาร์

“ช่วงที่เหลืออีก 4 เดือน เงินเฟ้อน่าจะติดลบน้อยลง เว้นแต่เดือนก.ย.ที่อาจจะติดลบมากกว่าเดือนส.ค. เพราะฐานปีก่อนสูง แต่ต.ค. ถึง ธ.ค. จะค่อยๆ ติดลบน้อยลงแล้ว อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั้งปียังคงเป็นลบแน่นอน ไม่มีทางจะเป็นบวกได้” ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ

พร้อมมองว่า มาตรการที่ภาครัฐเตรียมจะออกมาช่วยเหลือในเรื่องการจ้างงานเพิ่มขึ้น และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนนั้น เชื่อว่าเป็นการดำเนินมาตรการที่ถูกทางแล้ว เพราะสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขในขณะนี้ อันดับแรกคือการทำให้คนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น จากนั้นอันดับต่อมาคือ การกระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนเรื่องการฟื้นฟูค่อยมาเป็นลำดับถัดไป

Back to top button