คกก. ชง 5 Big Rock ปฏิรูปพลังงาน กระตุ้นศก.ฐานราก เร่งผลักดันโครงการ หวังเห็นผลปี 65

คณะกรรมการ ชง 5 Big Rock ปฏิรูปพลังงาน กระตุ้นศก.ฐานราก เร่งผลักดันโครงการ หวังเห็นผลปี 65


นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ภายหลังการทบทวนผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อภาคพลังงานในช่วงครึ่งแรกของปี 63 พบว่าความต้องการใช้พลังงานลดลง ทั้งด้านการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง ทำให้ไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงขึ้น การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าก็ลดลง ในด้านความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งก็ลดลง ส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังราคารับซื้อพลังงานทดแทนที่สูงกว่าราคาเชื้อเพลิงหลัก

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้เสนอ 5 ประเด็นเร่งด่วนที่เป็น Big Rock หรือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญและมีผลกระทบสูงต่อการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในด้านพลังงานของไทย เพื่อการเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในภาคพลังงาน เพิ่มการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ พร้อมๆ ไปกับการดูแลราคาพลังงานไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยจะเร่งโครงการส่วนใหญ่ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วภายในปี 2565

สำหรับ 5 Big Rock ได้แก่ กิจกรรมการปฏิรูปที่ 1 การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้านการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนการอนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน สนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปลดล็อคข้อจำกัดและขั้นตอนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นการลงทุนด้านพลังงาน

กิจกรรมการปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center: NEIC) เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผน/การตัดสินใจเชิงนโยบาย และเป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลด้านพลังงานที่โปร่งใส แม่นยำ เชื่อถือได้

โดยมีการปรับปรุงเป้าหมายและกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนขึ้น ได้แก่ การสร้าง Branding NEIC ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ผ่านการจัดตั้งกลไกกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นระบบและมีรูปแบบสื่อสารที่เข้าใจง่าย เพื่อลดการบิดเบือนข้อมูล สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญผ่านกลไกผู้บริหารสารสนเทศระดับสูง (CIO) ร่วมกับพลังงานจังหวัด สื่อมวลชน และเครือข่าย Social ด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจข้อมูลด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง ลดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อนโยบายพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อลดทอนผลกระทบ Covid-19 และภาระด้านการเงินการคลังประเทศ

กิจกรรมการปฏิรูปที่ 3 การใช้มาตรการธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน ESCO ภาครัฐ จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อเปลี่ยน “ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค” เป็น “การจ้างเอกชนมาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงานให้อาคารของรัฐ” ทำให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลและโรงเรียนของรัฐ สามารถนำผลประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นจริงมาจ่ายเป็นค่าบริการบริษัทจัดการพลังงาน ผ่านกลไกการรับประกันผลงานและตรวจวัดพิสูจน์ผลโดยบุคคลที่ 3 หรือหน่วยงานให้การรับรอง (Third Party Audit)

โดยมีกลุ่มเป้าหมายระยะแรกจำนวน 876 อาคารรัฐ คาดว่าจะช่วยประหยัดพลังงานภาครัฐคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านบาท/ปี ลดงบประมาณด้านซ่อมบำรุงและความเสี่ยงในการจัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าและการติดตั้งเทคโนโลยีโซลาร์รูฟที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) อาทิ ระบบ Censor เครื่องมือ/อุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อต่อยอดไปสู่ Smart home/ Smart Building โดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ทำการประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างงานใหม่ (Green Job) ให้กับประเทศไทยไม่น้อยกว่า 37,500 ตำแหน่ง ในระยะ 10 ปีข้างหน้า

ด้านการปรับโครงสร้างประเทศในระยะยาว ได้กำหนดให้มี กิจกรรมการปฏิรูปที่ 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรปิโตรเลียม ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

กิจกรรมการปฏิรูปที่ 5 ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยปฏิรูปแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2022 ทั้งในด้านการบริหารและโครงสร้างราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เปลี่ยนระบบการผลิตจากรวมศูนย์สู่กระจายศูนย์ แยกระบบส่งและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากกิจการผลิตไฟฟ้า เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งการผลิตใช้เองและขายเข้าระบบ พร้อมปฏิรูปการบริหารจัดการของ 3 การไฟฟ้าให้ประสานเชื่อมโยงแผนลงทุน และแผนปฏิบัติการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนการปฏิรูปด้านก๊าซธรรมชาติจะต้องจัดหาก๊าซฯ ให้มีความต่อเนื่องไม่เกิดการหยุดชะงักทั้งแหล่งอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศเพื่อหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม นอกจากนี้จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่เกี่ยวข้องให้ประเทศมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และกระจายตัวให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด การนำเข้ามาใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดก๊าซธรรมชาติ สร้างโอกาสให้ประเทศเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Trading Hub)

โดยในวันนี้ คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานจากทุกภาคส่วน และจะนำไปปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ฉบับที่ 2 Big Rock ให้สมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิรูปประเทศประมาณเดือน พ.ย.63 และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศบังคับใช้ต่อไป

Back to top button