NRF เตรียมระดมทุนใน SET เสริมแกร่งการเงิน-ขยายธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่ผู้นำ Plant Based Food
NRF เตรียมระดมทุนใน SET เสริมแกร่งการเงิน-ขยายธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่ผู้นำ Plant Based Food
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและขีดความสามารถขยายธุรกิจ รองรับการก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตอาหารในระดับสากล และเป็นบริษัทฯที่มีรูปแบบพร้อมรองรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติบโตสูงในอนาคต (Platform for Future Food)
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายระยะยาวก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมอาหารเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบนิเวศอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ด้วยนโยบายการเป็น The Purpose – Led Company เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทฯ อย่างก้าวกระโดด ให้มียอดขายเพิ่มขึ้นให้ได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 ภายใต้กลยุทธ์การเจาะตลาดอาหารกลุ่ม Specialty Food ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและมีอัตราการเติบโตสูง โดย NRF จะให้ความสำคัญในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารไทยและอาหารท้องถิ่น (Ethnic Food) ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Food) และ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน (Functional Products)
สำหรับแผนดำเนินงานระยะสั้นและระยะกลางของ NRF ประกอบด้วย 1.) ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยลงทุนซื้อโรงงานผลิตอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับเดียวกับบริษัทฯ 2.) ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ V-Shape ทั้งในผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและไม่ใช่อาหาร ส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยจากสถานการณ์ COVID-19 NRF ได้เริ่มผลิตเจลล้างมือแบบพกพาในบรรจุภัณฑ์ V-Shapes และมีแผนขยายต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญากับ Fluid Energy Group LTD ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บริการเครื่องจักร V-shape สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ Sanitization เพื่อการจำหน่ายในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในตะวันออกลาง
3.) เพิ่มกำลังการผลิตเส้นบุก รองรับความต้องการของตลาดอาหารสุขภาพที่เติบโต หลังจากผลิตภัณฑ์เส้นบุกในรูปแบบเส้นเปล่าและแบบพร้อมรับประทานของบริษัทฯ ได้แก่ บุกรสผัดไทย บุกรสแกงเขียวหวาน บุกรสต้มยำ บุกรสเจแปนนีส หรือบุกรสมารินาร่า ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
อีกทั้ง จากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เส้นบุกที่ผลิตในประเทศจีนลดลง และมองหาแหล่งผู้ผลิตเส้นบุกจากประเทศอื่น ดังนั้น ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทฯ รายหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของสินค้าประเภทเส้นบุกได้ลงนามใน บันทึกตกลงความเข้าใจในการรับจ้างผลิตระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากบุกประมาณ 15 ล้านหน่วย
และ 4.) เร่งกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชผ่านการร่วมทุนกับ THE BRECKS COMPANY LIMITED หรือ ‘เบรคส์’ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 27 ปี ในธุรกิจผลิตอาหารโปรตีนจากพืช โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ Plant and Bean Ltd. ที่ประเทศอังกฤษ รับจ้างผลิตอาหารโปรตีนจากพืชให้กับบริษัทอาหารชั้นนำของโลก ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเพิ่มกำลังการผลิต จากปัจจุบันประมาณ 3,000 ตัน ให้เป็น 36,000 ตัน ภายในปี 2564 รองรับการเติบโตของความต้องการของลูกค้า และมีแผนการขยายการผลิตไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต รวมถึงยังเป็นพันธมิตรกับ Meatless Farm ในประเทศอังกฤษ ผู้ผลิตอาหารจำพวกแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียม โปรตีนจาก ข้าวและถั่ว รวมถึงหัวไชเท้า ที่ทดแทนรสชาติ การสัมผัสเหมือนกินเนื้อสัตว์จริง โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับ Meatless Farm ในประเทศไทยภูมิภาคเอเชียในอนาคต
นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมลงทุนใน Big Idea Venture และกองทุนนิวโปรตีนขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนแบบ Accelerator ที่ให้เงินทุนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืชพร้อมทั้งคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีเป้าหมายการลงทุนประมาณ 100 สตาร์ทอัพ ภายใน 3 ปี โดยปัจจุบันลงทุนแล้วประมาณ 27 สตาร์ทอัพ มากกว่าครึ่งหนึ่งของสตาร์ทอัพเหล่านั้นมียอดขายแล้ว ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีทางธุรกิจกับสตาร์ทอัพด้านอาหาร (Food Tech Startups) และเป็นการสร้างโอกาสให้กับบริษัทฯ ได้เป็นผู้ผลิตให้กับธุรกิจเหล่านี้ในอนาคตระยะยาว
โดยบริษัทฯ ได้รับสิทธิในการเป็น Preferred Co-packer ให้กับสตาร์ทอัพเหล่านี้อักด้วย การเข้าลงทุนดังกล่าวยังทำให้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริษัทได้ในภายภาคหน้าเพื่อการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการผลิตของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น
ล่าสุด NRF ได้เข้าลงทุนใน Phuture Food Limited (“Phuture”) หนึ่งในสตาร์ทอัพด้าน Food Tech ในทวีปเอเชียที่ได้รับความสนใจจากบริษัทลงทุนระดับโลก มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูสับเทียมที่ผลิตจากโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นหลัก โดยลงทุนเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและโอกาสในการเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับ Phuture หลังผลิตภัณฑ์พร้อมออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อรองรับการผลิตให้กับสตาร์ทอัพและลูกค้า Plant-based food นอกเหนือจากการร่วมลงทุนในโรงงานผลิต plant-based food ที่ประเทศอังกฤษแล้ว บริษัทฯ มีแผนสร้างโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชแห่งใหม่ในประเทศไทย (Plant-based dedicated manufacturing facilities) โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ Plant-based ประมาณร้อยละ 30-40 ในปี 2567
นอกจากนี้มีแผนการลงทุนสร้าง NRF Global E-commerce Platform ร่วมกับ Boosted ECommerce Inc. (Boosted) เพื่อร่วมกันเข้าลงทุนในธุรกิจ branded e-commerce (Consumer Package Brands: CPG) ของ Third-party Seller ที่มียอดขายบน Amazon E-commerce marketplace และมีผลกำไรแล้ว รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูง (Third-party seller หมายถึง ผู้ขายสินค้าบน Amazon.com ที่ไม่ใช่บริษัท Amazon.com Inc.)
โดยภายหลังจากการลงทุนบริษัทฯ จะร่วมกับ Boosted ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่เข้าลงทุนให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การปรับปรุง Supply Chain, การขยายขนาดธุรกิจ Scalability เป็นต้น เพื่อขยายธุรกิจออนไลน์ และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กระจายเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่ามีโอกาสในการเติบโตมาก โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่าในไตรมาส 2 ปี 2563 Third-party seller มียอดขายคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 53 ของยอดขายของ Amazon ทั้งหมด (เม.ย.-มิ.ย. 2563 Amazon มีรายได้ 88.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท)
Boosted เป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนไปแล้วประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจและแบรนด์ ecommerce ที่หลากหลาย (Diversified) ประมาณ 100 แบรนด์ เพื่อสร้างบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกในอนาคต (The Modern Procter & Gamble) ภายในระยะเวลา 4 ปี และมีแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ปัจจุบัน Boosted มีการเริ่มลงทุนไปแล้วประมาณ 6 แบรนด์และอยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนในแบรนด์อื่น ๆ เพิ่มเติม ในหลากหลายธุรกิจ โดยบริษัทฯ ร่วมลงทุนใน Boosted 2 รูปแบบคือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Boosted สำหรับลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารโดยเฉพาะโดยบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และการร่วมลงทุนใน Boosted Ecommerce Inc ซึ่งลงทุนในธุรกิจ Ecommerce ประเภทอื่น ๆ
นายธีระพงษ์ ลอรัชวี กรรมการและกรรมการผู้จัดการ NRF กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรสชั้นนำ และอาหารโปรตีนจากพืช โดยมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 SKU และกว่า 500 สูตรอาหาร ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.) กลุ่ม Ethnic Food (OEM / Private Label และ NRF Brands) แบ่งเป็น 1.1 ผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM / Private Label) ประกอบด้วย เครื่องประกอบอาหารและเครื่องปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (Ready-to-cook) อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) และเครื่องดื่มชนิดผงพร้อมชงและพร้อมดื่ม รวมถึงอาหารอุ่นไมโครเวฟ เช่น ข้าวหรืออาหารประเภทเส้นพร้อมแกงหรือซอสในรูปแบบต่าง ๆ ในบรรจุภัณฑ์ที่เข้าไมโครเวฟได้ทันที และ 1.2 ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ จำนวน 6 แบรนด์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงต้มยำและเครื่องปรุงแกง ภายใต้แบรนด์ พ่อขวัญ เครื่องปรุงอาหารที่เน้นรสชาติแบบเอเชีย แบรนด์ Lee Brand อาหารสำเร็จรูป ในบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมนำเข้าเตาไมโครเวฟและรับประทานได้ทันที เช่น ข้าวราดแกง ผัดไท แบรนด์ Thai Delight เครื่องปรุงรสอาหารและซุปกึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ Shanggie เครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ แบรนด์ DeDe และเครื่องปรุงรสอาหารและพริกในรูปแบบขนมขบเคี้ยว แบรนด์ Sabzu
2.) กลุ่ม Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช โดยนำโปรตีนจากพืชมาผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารมังสวิรัติ ปรุงแต่งให้มีรสชาติ รสสัมผัส กลิ่น ใกล้เคียงเนื้อสัตว์ ซึ่งใช้วัตถุดิบเกรดพรีเมี่ยม คัดสรรคุณภาพดี และใส่ใจต่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค เช่น เนื้อเทียมจากขนุนและมะเขือม่วง เส้นชิราตากิ หรือ เส้นบุกในรสชาติต่าง ๆ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเงินลงทุนในธุรกิจ Plant-based food แล้วประมาณ 250 ล้านบาท และวางแผนลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อลงทุนในฐานการผลิตในและนอกประเทศ รวมถึงการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต plant-based food เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต และ 3.) กลุ่ม Functional Products ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shapes) อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้งานง่าย มอบความสะดวกสบาย และคุณภาพสูงสุดแก่ผู้ใช้งาน ในอนาคตบริษัทฯ อยู่ระหว่างการขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีฐานการผลิตจำนวน 2 โรงงาน ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ โรงงานสำหรับผลิตเส้น และโรงงานสำหรับการผลิตซอสและเครื่องปรุง นอกจากนี้ ได้เข้าลงทุนหุ้นสามัญของบริษัท ซิตี้ฟูด จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 15 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดราชบุรี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกลุ่ม Ethnic Food และ Plant-Based Food และยังมีแผนเข้าซื้อหุ้นอีกร้อยละ 85 ภายในปี 2563 เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมรองรับการเติบโตในระยะสั้นต่อไป นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตในมาตรฐานสากล ได้แก่ IFS BRC GMP HACCP สะท้อนถึงความปลอดภัย และมอบความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ริเริ่มโครงการ Carbon Footprint เมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยมุ่งหวังที่จะเป็นองค์กร Zero Carbon และปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับประกาศนียบัตรจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อแสดงว่า บริษัทฯ เป็นองค์กรปราศจากคาร์บอน หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตอาหารภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับประกาศนียบัตร
นางสาวเพ็ญอุไร ไชยชัชวาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน NRF กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 603.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 41.1 ล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 517.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 16.3 ล้านบาท ผลจากการลงทุนขยายฐานการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มากขึ้น อีกทั้งเติบโตจากปัจจัยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาด ทั้งอเมริกา ยุโรป โอเชียเนีย และเอเชีย รวมถึงบริหารต้นทุนการผลิตและการดำเนินการที่ดีขึ้น ประกอบกับเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape) โดยภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไป บริษัทฯ มีแผนจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระเงินกู้ยืมระยะยาวทั้งหมดซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถลดภาระดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ สามารถนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไปใช้ในการลงทุนขยายกิจการตามโครงการในอนาคตที่บริษัทฯ วางระยะยาวไว้ถึงปี 2565 อีกด้วย (ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจปกติซึ่งเกิดจากการซื้อกิจการและ/หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ค่าตัดจำหน่ายที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ และดอกเบี้ยเงินกู้จากการเข้าซื้อกิจการ 63.6 ล้านบาท)
นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติแบบไฟลิ่งของ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ เป็นที่เรียบร้อย โดย NRF ถือเป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงจากการได้เปรียบทางการแข่งขันที่เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรายแรกของไทยที่เตรียมความพร้อมด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านอาหารเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต รวมทั้งมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายจากโรงงานทั้งในและต่างประเทศที่มีมาตรฐานในกระบวนการผลิตเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกระจายเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายกว่า 25 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น และยังมีแผนขยายธุรกิจ branded ecommerce ซึ่งเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งซึ่งถูกผลักดันด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นการสั่งซื้อของผ่านออนไลน์ รวมถึงการที่บริษัทฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคเองโดยตรง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ เข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคปลายทางอย่างแท้จริง โดยสามารถนำมาใช้สำหรับการวิเคราะห์เชิงการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
ทั้งนี้ NRF มีทุนจดทะเบียน 1,421,040,400 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,421,040,400 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 1,065,780,300 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 1,065,780,300 หุ้น โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 340 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.08 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ โดยแบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 290 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิม คือ บริษัท ดีพีเอ ฟันด์ เอส จำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น ซึ่งภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระเงินกู้ยืม ลงทุนโครงการในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะนำ NRF จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2563 นี้