NNCL มั่นใจผลงานปีนี้สดใส จ่อรับรายได้จ่ายน้ำ “กปภ.”- COD โรงไฟฟ้า NNEG เฟส 2
NNCL มั่นใจผลงานปีนี้สดใส จ่อรับรายได้จ่ายน้ำ "กปภ."- COD โรงไฟฟ้า NNEG เฟส 2
นายสุทธิพร จันทวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการในปี 2563 จะดีกว่าปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 775 ล้านบาท กำไรสุทธิ 256 ล้านบาท แม้จะรับผลกระทบโควิด-19 หลังจากผลงานในช่วงไตรมาส 1-2 รายได้ยังเติบโตต่อเนื่อง ส่วนในไตรมาส 3-ไตรมาส 4 คาดว่าดีไม่แพ้กัน ขณะที่แผนพัฒนาธุรกิจที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้
โดยในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้รวม 600 ล้านบาท จาก 390 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ารายได้ประจำ (Recurring Income) จะลดลงเหลือ 327 ล้านบาท จากงวด 6 เดือนปีก่อนที่มีรายได้ประจำ 331 ล้านบาท ลดลง 1% หรือ 4 ล้านบาท แต่อัตรากำไรขั้นต้น 53% สูงกว่าปีก่อน 50% ทำให้มีกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 98 ล้านบาทในข่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยู่ที่ 28% จาก 25%
ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะมีรายได้เข้ามาใหม่จากโครงการขายน้ำให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำประปาเมื่อ 26 มิ.ย. 63 สัญญาจ้าง 5 ปี ต้องจ่ายน้ำขั้นต่ำ 10,800 ลบ.ม./วัน โดยระหว่างนี้ก่อสร้างและคาดจ่ายน้ำได้เสร็จก่อนกำหนดในเดือน พ.ย.นี้ โดยโครงการนี้เพิ่มรายได้ประจำจากบริการด้านสาธารณูปโภค และโครงการโรงผลิตไฟฟ้า NNEG เฟส 2 ขนาด 60 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปลาย ต.ค.หรือต้น พ.ย. 63 จากเดิมที่ล่าช้าไปหลังติดปัญหาการเดินทางเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เดินทางเช้ามาทดสอบระบบแล้ว คาดว่าจะรับรู้กำไรได้ในปีแรก เพราะมีลูกค้าเข้ามาใช้เต็มระบบแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีรายได้มาจาก Recurring income จากบริการด้านสาธารณูปโภคเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าไม่มียอดขายที่ดิน ทำให้บริษัทยังมีกำไรดีมาก แนวโน้มการพัฒนาจะเน้นไปที่บริการด้านสาธาณูปโกค ไม่จำกัดแค่นิคมอุตสาหกรรม หลังจากบริษัทได้สัญญาจ่ายน้ำประปา และโครงการใหม่ จะเป็นเรื่องสาธารณูโภคเป็นหลัก แต่ทั้งนี้บริษัทไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้
“รายได้เราเติบโตต่อเนื่องจากสาธารณูปโภคจากอดีตมีขายที่ดิน สร้างความมั่นคงให้บริษัทและมีทุนหมุนเวียน การจ่ายน้ำให้พื้นที่ภายนอกนิคมอุตสากรรมเป็นธุรกิจใหม่ เท่าที่ทราบบริเวณใกล้เคียงปทุมธานีก็มีน้ำใช้ไม่พอ สัญญานี้เป็นสัญญาแรกได้จากการประปาส่วนภูมิภาค หากคุณภาพน้ำจ่ายไปดี ก็คาดว่าต่อยอดธุรกิจนี้ได้ในอนาคต”
อย่างไรก็ดี บริษัทได้รับผลกระทบโควิด-19 น้อยมาก เนื่องจากบริษัทมีลูกค้า 200 กว่ารายกระจายไปหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แม้ว่าลูกค้ากลุ่มยานยนต์จะได้รับผลกระทบมาก แต่มีสัดส่วนไม่มาก ส่วนกลุ่มอาหารสำเร็จรูป อาทิ นิชชิน เนสเล่ ได้รับผลบวกจากโควิด-19 บริษัทเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยา ต่างก็มีออเดอร์เข้ามามาก ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคมาก โดยรวมรับผลกระทบไม่มาก เห็นได้จากการใช้สาธารณูปโภคลดลงไม่ถึง 3%
ส่วนในไตรมาส 2/63 ที่มี Net Profit Margin ลดเหลือ 19% มาจาก 21% มาจากยอดขายที่ดินแปลงใหญ่ และกำไรเมื่อเทียบกับยอดขายทำได้ไม่มากนัก บริษัทยอมขายที่ดินในนวนครนครราชสีมา เพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่ มีโอกาสใช้ไฟฟ้ามาก เป็นโอกาสก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะทำให้มีกำไรรายได้ในระยะยาวดีกว่าการขายที่ดินเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินโครงการใหม่ ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี ได้แก่ โครงการโครงข่ายอัจฉริยะจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ได้ขยายการติดตั้งบริเวณหลังคาอาคารฝ่ายโยธา 45.60 กิโลวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตขนานไฟฟ้า และบริเวณบ่อน้ำอาคาร (Solar Floating) สำนักงานใหญ่ 61.56 กิโลวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการติดตั้งอุปกรณ์แผง solar แบบทุ่นลอยน้ำ
ส่วนโครงการใหม่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ผ่านบริษัท อาร์ อี เอ็ม โคราช เอนเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH 40% NNCL 35%และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้น 25% โดยอยู่ระหว่างขออนุญาต ทั้งกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านเทคนิคของการสร้างโรงไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2566
ขณะที่โครงการโครงข่ายอัจฉริยะจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) มีติดตั้งหลังคาสำนักงาน 22.80 กิโลวัตต์ (Solar Roof) ติดตั้งแผงโซลาร์แล้วเสร็จอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตขนานไฟฟ้า และติดตั้งที่บ่อน้ำโรงผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม (Solar Floating) 61.56 กิโลวัตต์ บ่อน้ำโรงบำบัดน้ำเสีย (Solar Floating) 61.56 กิโลวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่งรอการติดตั้งอุปกรณ์แผง Solar แบบทุ่นลอยน้ำ