พิษ “โควิด” ทุบมูลค่าตลาดสื่อสารปีนี้ หด 23% เหลือ 6 แสนลบ.-แผนลงทุน 5G ล่าช้า
"กสทช." คาดพิษ “โควิด” ทุบมูลค่าตลาดสื่อสารปีนี้ หด 23% เหลือ 6 แสนลบ.-แผนลงทุน 5G ล่าช้า
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงรายงานผลการสำรวจข้อมูลสื่อสารโทรคมนาคมปี 62 และประมาณการปี 63 ว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวส่งผลให้ตลาดสื่อสารของประเทศไทยในปี 62 มีมูลค่า 619,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 61 เพียง 0.9% และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของตลาดสื่อสารในปี 63 มีมูลค่าประมาณ 605,108 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 ราว 23%
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดอุปกรณ์สื่อสาร แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ภาคเอกชนยังต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อบำรุงรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย ส่งผลให้การลงทุนในตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 62 มีมูลค่าประมาณ 262,705 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 61 ราว 2.3%
ส่วนการลงทุนและการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารในปี 63 แม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการจัดให้มีการประมูลคลื่น 5G ของกสทชและสำนักงานกสทช. ในเดือน ก.ย.63 แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แผนการดำเนินงานเพื่อลงทุนในโครงข่าย 5G อาจล่าช้ากว่าปกติรวมถึงการใช้จ่ายในตลาดอุปกรณ์สื่อสารด้านต่างๆเป็นไปด้วยความระมัดระวังจึงคาดว่ามูลค่าของตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 63 นี้จะปรับตัวลดลงจากปี 62 ราว 4.8% หรือมีมูลค่าประมาณ 250,021 ล้านบาท
การสำรวจการใช้จ่ายในตลาดบริการสื่อสารพบว่าในปี 62 มีมูลค่าประมาณ 356,438 ล้านบาท ลดลงจากปี 61 ราว 0.2% ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการทางเลือก (OT) มากขึ้นส่งผลให้มูลค่าของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการสื่อสารข้อมูลเติบโตในกรอบแคบ ๆ ขณะที่บริการโทรศัพท์ประจำที่และบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมูลค่าของตลาดบริการสื่อสารในปี 63 สำนักงานกสทช. คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 355,087 ล้านบาท ลดลง 0.4% จากปี 62 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นผลให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงการใช้ประโยชน์จากการให้บริการด้วยคลื่น 5G อาจล่าช้าและทำให้ตลาดหดตัวลงเล็กน้อย
การสำรวจและวิเคราะห์จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่าในปี 62 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 51.19 ล้านคน เพิ่มขึ้น 79% จากปี 61 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 4.6% ในปีนี้ เป็นผลให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 53.55 ล้านคน
ในส่วนของปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาพบว่าในปี 62 ปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธภายในประเทศ (Domestic Bandwidth) เท่ากับ 8,338.64 Gpbs เพิ่มขึ้น 16.6% จากปี 61 และคาดการณ์ว่าในปี 63 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,097.45 Gpbs หรือเพิ่มขึ้น 9.1% จากปี 62
ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธไปต่างประเทศ (International Bandwidth) ในปี 62 เท่ากับ10,575.75 Gpbs เพิ่มขึ้น 34.5% จากปี 61 และคาดการณ์ว่าในปี 63 จะเพิ่มขึ้นเป็น 14,467.62 Gpbs เพิ่มขึ้น 36.8% จากปี 62