KTIS โกยรายได้ 9 เดือนแตะ 1.1 หมื่นล. คาดผลผลิตอ้อยงวดปี 63/64 พุ่งหลังคลายล็อกดาวน์
KTIS โกยรายได้ 9 เดือนแตะ 1.1 หมื่นล. คาดผลผลิตอ้อยงวดปี 63/64 พุ่งหลังคลายล็อกดาวน์
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า แม้ว่าผลผลิตอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2562/2563 จะต่ำกว่าปีก่อนหน้านั้นกว่า 40% เพราะปัญหาภัยแล้ง แต่รายได้ของสายธุรกิจน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ในงวด 9 เดือนของรอบบัญชีปี 2563 (ต.ค.62-มิ.ย.63) ยังมีการเติบโตจากปีก่อน 17.5% เพราะปริมาณการขายและราคาขายสูงกว่าปีก่อน และเป็นสายธุรกิจหลักที่ทำให้รายได้รวมของกลุ่ม KTIS ในรอบ 9 เดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6% จาก 10,768.0 ล้านบาท เป็น 11,259.8 ล้านบาท
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวอีกว่า ผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ของกลุ่มเคทิส ซึ่งมีประมาณ 5.7 ล้านตัน ต่ำกว่าปีก่อน 42.4% นับเป็นการลดลงที่รุนแรง แต่ก็ยังดีกว่าภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมซึ่งผลผลิตอ้อยทั้งระบบลดลง 42.8% ในขณะที่ผลผลิตน้ำตาลของกลุ่มเคทิสทำได้ประมาณ 6.0 ล้านกระสอบ ลดลงจากปีก่อน 41.7% ดีกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่มีปริมาณน้ำตาลทรายลดลงถึง 43.1%
สำหรับฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่จะเปิดรับอ้อยเข้าหีบในปลายปี 2563 นี้ แม้ว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้อต่อการเติบโตของอ้อยมากนัก แต่ก็คาดว่าผลผลิตอ้อยจะสูงกว่าปีการผลิต 62/63 ซึ่งการได้อ้อยปริมาณมากขึ้นก็จะส่งผลให้สายธุรกิจต่างๆ มีวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้นด้วย
“การรักษาการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรของบริษัทฯ นอกจากจะมุ่งไปที่การสร้างอ้อยที่ดีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพแล้ว เนื่องจากกลุ่มเคทิสมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องครบวงจร จึงต้องบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวโน้มของแต่ละอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพด้วย” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
ทั้งนี้ การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มเคทิสสามารถทำกำไรสุทธิในรอบบัญชีไตรมาสที่ 3 ปี 2563 (เม.ย.-มิ.ย. 63) ได้ถึง 654.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 706.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 107.9 ล้านบาท
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวถึงทิศทางของสายธุรกิจเอทานอลว่า ปริมาณการใช้เอทานอลเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วในช่วงหลังคลายการล็อคดาวน์ โดยจะเห็นได้จากปริมาณการใช้เอทานอลเดือนมิถุนายน 2563 กลับมาสูงกว่า 4 ล้านลิตรต่อวัน มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2563 ประมาณ 5 แสนลิตรต่อวัน และเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าและความต้องการเยื่อกระดาษชานอ้อยก็เพิ่มขึ้นตามการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นหลังคลายล็อคดาวน์