“ครม.” อนุมัติรื้อกม.จราจรทางบก ในรอบ 41 ปี “รถบรรทุก-มอเตอร์ไซต์” ใช้เลนขวาได้กรณีจำเป็น
“ครม.” อนุมัติรื้อกม.จราจรทางบก ในรอบ 41 ปี “รถบรรทุก-มอเตอร์ไซต์” ใช้เลนขวาได้กรณีจำเป็น
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวในบางประการ ทั้งในเรื่องการใช้ช่องเดินรถ ลักษณะความผิดในการขับรถ การตรวจสอบหรือทดสอบผู้ขับขี่ หน้าที่การใช้เข็มขัดนิรภัย การป้องกันการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต และการควบคุมการใช้รถที่มีสภาพไม่ถูกต้อง รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในการใช้รถใช้ถนนในปัจจุบัน ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและป้องกันการกระทำความผิดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่
1.กำหนดให้รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร และรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ช่องเดินรถด้านขวาได้ในกรณีจำเป็น และแก้ไขเพิ่มเติมน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่ไม่ต้องใช้ช่องเดินรถด้านซ้ายสุดจาก 1,600 กิโลกรัม เป็น 2,200 กิโลกรัม
2.กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ ในกรณีที่อยู่ในภาวะหมดสติจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสารเสพติดหรือตรวจระดับความเมาสุราได้ โดยให้ทำได้เท่าที่จำเป็นและต้องไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลนั้น
3.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรัดเข็มขัดนิรภัย เช่น 1)กำหนดหน้าที่ของผู้ขับขี่และคนโดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาในขณะโดยสารรถ 2)ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี นั่งแถวหน้า ยกเว้นมีที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กและมีวิธีป้องกันอันตรายไว้แล้ว และ3)ห้ามไม่ให้มีผู้โดยสารนั่งตอนหน้าเกินว่า 2 คน ในขณะขับขี่ เป็นต้น
4.ปรับปรุงมาตรการป้องกันการแข่งรถในทาง เช่น 1)กำหนดให้ผู้ที่รวมกลุ่มกันในทางพร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป โดยมีการนัดหมายแข่งรถ หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงถึงจะมีการแข่งรถ ให้ถือว่าเป็นผู้พยายามแข่งรถในทาง เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นอย่างอื่น 2) กำหนดให้ผู้ที่รับการปรับแต่งรถเพื่อแข่งรถในทาง ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง เป็นต้น
5.ปรับปรุงบทกำหนดโทษ เช่น เพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานขับรถในขณะถูกพักใช้อนุญาตขับขี่ตามมาตรการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ในลำดับต่อไปจะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป