“บสย.” ลงนาม 18 แบงก์ ค้ำ “ซอฟต์โลน พลัส” 5.7 หมื่นล้าน เปิดช่องเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ

“บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม” (บสย.) ลงนาม 18 แบงก์ ค้ำ “ซอฟต์โลน พลัส” 5.7หมื่นล้าน เปิดช่องเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ


นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส) วงเงินค้ำประกัน 5.7 หมื่นล้านบาท ระหว่างบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 ธนาคารพันธมิตรว่า โครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำไปสู่การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

          “มั่นใจว่าโครงการดังกล่าว จะเสริมสร้างบรรยากาศการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีให้คึกคัก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจตลอดไตรมาส 3-4 ของปีนี้ให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท” นายสันติ กล่าว

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูในรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำนวน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ บสย.ใช้ค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อขอกู้เงินจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันปล่อยกู้ไปได้เพียง 1 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาท โดยมองว่าการค้ำประกันอีก 6 หมื่นล้านบาท จะช่วยทำให้เกิดสินเชื่อในระบบอีก 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ บสย. ขยายการค้ำประกันเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันที่ 30% นั้น คงต้องมาดูว่าหากมีการขยายจะช่วยส่งเสริมธุรกิจใดที่จำเป็นได้หรือไม่ แต่คงเป็นเรื่องอนาคตที่ค่อยมาพิจารณา เพราะกรอบการค้ำประกันในปัจจุบันที่ 30% ก็ช่วยทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

ด้านนางนฤมล ภิณโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยลดปัญหาการว่างงาน และทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 3.6 แสนตำแหน่ง โดยคาดว่าจะนำไปสู่การขยายผลต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส สู่การบูรณาการความร่วมมือด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า โครงการ Soft Loan พลัส ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย บสย.สามารถรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 3.4 หมื่นราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท และยังช่วยลดปัญหาการว่างงาน ซึ่ง บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10

นอกจากนี้ บสย. ยังเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการเงินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เอสเอ็มอี ไทยชนะ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจทุกประเภท ค้ำประกันสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี สามารถปรับค่าความเสี่ยงและลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มเอสเอ็มอีได้ ซึ่ง บสย. คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบได้ 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 1.2 หมื่นราย และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 4.2 แสนตำแหน่ง

Back to top button