“ทริสฯ” คงอันดับเรตติ้ง OISHI ที่ “A+” มองฐานะการเงินแข็งแกร่ง-สภาพคล่องสูง
"ทริสฯ" คงอันดับเรตติ้ง OISHI ที่ "A+" มองฐานะการเงินแข็งแกร่ง-สภาพคล่องสูง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มในประเทศไทยและตราสินค้าของบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับน่าพอใจ ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีปัจจัยเสริมบางส่วนจากการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (หรือ “ไทยเบฟ” ซึ่งได้รับอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแออันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
-การสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ณ เดือนพฤษภาคม 2563 บริษัทไทยเบฟเวอเรจถือหุ้นในสัดส่วน 79.66% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทไทยเบฟซึ่งเป็นบริษัทแม่มีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทอย่างเต็มที่โดยผ่านช่องทางการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางของบริษัทไทยเบฟและยังมีการใช้ทรัพยากรและโรงงานบางแห่งร่วมกันอีกด้วย
โดย บริษัทได้รับประโยชน์จากเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางของบริษัทไทยเบฟซึ่งครอบคลุมร้านค้าปลีกและร้านอาหารท้องถิ่นกว่า 450,000 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งบริษัทยังเป็นผู้รับจ้างผลิตเครื่องดื่มให้แก่บริษัทในกลุ่มซึ่งช่วยให้มีการใช้กำลังการผลิตที่สูงยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยเสริมบางส่วนจากการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากบริษัทไทยเบฟ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าบริษัทมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารของบริษัทไทยเบฟ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทไทยเบฟรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินในยามจำเป็นอีกด้วย เนื่องจากบริษัทมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจอาหารและธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ
-เครือข่ายร้านอาหารได้รับผลกระทบในด้านลบจากโรคโควิด 19 ในปีงบประมาณ 2562 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 7.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 8% จากปีงบประมาณ 2561 โดยยอดขายจากสาขาเดิมของร้านอาหารในปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้นราว 2% จากปีงบประมาณก่อน หลังจากที่มียอดขายสาขาเดิมลดลงในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ร้านอาหารที่มียอดขายจากสาขาเดิมที่เติบโตดี ได้แก่ “ชาบูชิ” (Shabushi) “นิกุยะ” (Nikuya) “คาคาชิ” (Kakashi) และ “โออิชิ ราเมน” (Oishi Ramen)
โดยบริษัทมีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นโดยมีตราสัญลักษณ์ร้านอาหารที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักในร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ชาบู บริษัทยังคงขยายสาขาร้านอาหารอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562 และปี 2563 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการขยายสาขา “ชาบูชิ” เป็นสำคัญและยังได้ขยายสู่ร้านอาหารพรีเมี่ยมและร้านอาหารตามสั่ง เช่น “โฮว ยู” (Hou Yuu) ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นคุณภาพสูงและ “ซาคาเอะ” (Sakae) ซึ่งเป็นร้านอาหารชาบูและสุกียากี้ญี่ปุ่นพรีเมี่ยมแบบตามสั่งที่เพิ่งเปิดใหม่ โดยบริษัทมีจำนวนสาขาร้านอาหาร 269 แห่ง ณ เดือนมิถุนายน 2563 เพิ่มขึ้นจาก 266 แห่งในปี 2562 และ 252 แห่งในปี 2561
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะทำให้รายได้จากธุรกิจร้านอาหารของบริษัทลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่แย่ลงจากโรคระบาดซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดขายจากสาขาเดิมของร้านอาหารลดลงในปี 2563 ด้วยเช่นกัน
ร้านอาหารของบริษัทต้องปิดบริการให้นั่งรับประทานในร้านตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ตามมาตรการปิดเมืองทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้รายได้จากเครือข่ายร้านอาหารของบริษัทลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 การซื้ออาหารกลับบ้านและการสั่งอาหารให้ส่งถึงบ้านช่วยลดผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวลงไปได้บ้าง แต่ในทางตรงกันข้าม บริษัทกลับมีรายได้จากอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากผลของการออกสินค้าใหม่และพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าในเวลาที่เกิดความหวาดกลัวสูงสุดในช่วงการปิดเมือง
อย่างไรก็ตาม โรคโควิด 19 นั้นมีผลกระทบในด้านลบต่อรายได้ของบริษัทในธุรกิจอาหารโดยรวม โดยรายได้จากธุรกิจอาหารของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ลดลง 30% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน ซึ่งมาอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท ความสามารถในการทำกำไรในธุรกิจอาหารของบริษัทเมื่อพิจารณาจากอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายแล้วปรากฎว่าปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากยอดขายที่หดตัวลงและบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานคงที่ที่สำคัญ ๆ อยู่ เช่น ค่าเช่า และค่าบุคลากร
ทั้งนี้ภายหลังจากมาตรการปิดเมืองเริ่มผ่อนคลายก็เริ่มปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายแม้ว่าจะยังไม่เป็นปกติก็ตาม ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในธุรกิจอาหารจะหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปีงบประมาณ 2563 แต่จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 6-7 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีถัดไป
โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายสาขาและรูปแบบร้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้นจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในช่วงปีงบประมาณ 2564-2565 ในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจร้านอาหารและสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบาง ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำจะยังคงส่งผลกดดันต่อการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทได้พยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมค่าใช้จ่าย ควบคุมของทิ้งสิ้นเปลือง และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้และเพื่อเพิ่มการทำกำไรในระยะยาว ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าการทำกำไรในธุรกิจอาหารของบริษัทจะติดลบในปีงบประมาณ 2563 และก่อนที่จะปรับดีขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า
– เป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทย บริษัทยังคงเป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับประมาณ 46.7% จากยอดขายในช่วง 12 เดือนย้อนหลังจากเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 44.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีตราสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี รวมถึงเครือข่ายกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ บริษัทใช้เครือข่ายการกระจายสินค้าของบริษัทไทยเบฟ (รวมถึงเครือข่ายของ บมจ.เสริมสุข ด้วย) ที่กว้างขวางซึ่งครอบคลุมร้านค้าและร้านอาหารท้องถิ่นกว่า 450,000 แห่ง นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการขยายไปยังเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มคุณภาพสูงยังช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทอีกด้วย ส่งผลทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทสูงกว่าบริษัทคู่แข่งที่มียอดขายเป็นอันดับสองซึ่งอยู่ที่ระดับ 31%
โดยบริษัทมียอดขายในธุรกิจเครื่องดื่มรวม 6.5 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2562 โดยเติบโตเพิ่มขึ้น 9% จากปีงบประมาณ 2561 โดยในปีงบประมาณ 2562 บริษัทมียอดขายชาพร้อมดื่มภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น 7% จากปีงบประมาณก่อน ซึ่งเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่ 2% จากปีงบประมาณ 2561 ตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยในปี 2562 เริ่มฟื้นตัวจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่จากการที่ผู้ผลิตชาพร้อมดื่มต่างก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างภาษีใหม่และเริ่มมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ตลาดชาพร้อมดื่มของไทยหดตัว 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากโรคโควิด 19 ยอดขายเครื่องดื่มของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ลดลง 9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อนมาอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท แม้ว่ายอดขายจะลดลง แต่การทำกำไรในธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัทปรับดีขึ้นจากการควบคุมต้นทุนและการลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายต่าง ๆ
ทั้งนี้ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากการดำเนินงานปกติ (ไม่รวมค่าสินไหมประกันภัยที่เป็นรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจำนวน 0.29 พันล้านบาท) ที่ระดับประมาณ 24.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 เพิ่มขึ้นจากระดับ 23.3% ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน ทั้งนี้ อัตรากำไรที่ดีขึ้นในธุรกิจเครื่องดื่มน่าจะช่วยรองรับผลขาดทุนในธุรกิจอาหารได้บางส่วน
โดยภายหลังจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายลง ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายเครื่องดื่มภายในประเทศของบริษัทจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับเดิม ในขณะที่ยอดขายในต่างประเทศจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้น ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดขายเครื่องดื่มของบริษัทในปีงบประมาณ 2563 จะลดลงและจะกลับมาเติบโตในอัตราปานกลางในช่วง 2 ปีข้างหน้า
-ธุรกิจเครื่องดื่มช่วยพยุงการทำกำไร ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 2.4 พันล้านบาทต่อปีในปีงบประมาณ 2562 โดยเพิ่มขึ้นจาก 2 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรที่ปรับดีขึ้นนั้นมาจากผลการดำเนินงานที่ดีทั้งในธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจอาหาร โดยบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 17.7% ในปีงบประมาณ 2562
อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากการดำเนินงานปกติของบริษัท (ไม่รวมรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ลดลงจากระดับ 2 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนอันเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงในธุรกิจอาหารเป็นสำคัญ ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 16.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายโดยรวมของบริษัทจะลดลงในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งสะท้อนยอดขายจากธุรกิจอาหารที่หดตัวลงพร้อมกับมีผลขาดทุน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายเครื่องดื่มที่มีอัตรากำไรที่ดีขึ้นจะช่วยพยุงความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของบริษัทเอาไว้ได้และจะทำให้บริษัทยังคงมีผลกำไรในปีงบประมาณ 2563
ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.1-2.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีงบประมาณถัดไป เมื่อพิจารณาจากยอดขายที่คาดว่าจะฟื้นตัว ตลอดจนการริเริ่มควบคุมต้นทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอาหารและการขยายสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการมีนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์นั้นคาดว่าน่าจะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทพัฒนาดียิ่งขึ้น
-หนี้สินอยู่ในระดับต่ำ บริษัทอยู่ในสถานะปลอดหนี้มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 และยังคงสถานะดังกล่าวมาจนถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เนื่องจากบริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้นรวมถึงมีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สมเหตุสมผลและไม่มีการลงทุนหรือใช้เงินลงทุนขนาดใหญ่เป็นช่วงระยะเวลาที่ยาว บริษัทจึงมีสถานะทางการเงินที่มีเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมประมาณ 740 ล้านบาท
บริษัทมีแผนใช้จ่ายเพื่อการลงทุนโดยรวมประมาณ 1.7 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 หากไม่มีการซื้อกิจการโดยการก่อหนี้ขนาดใหญ่ ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะมีความต้องการในการกู้ยืมน้อยและน่าจะยังคงสถานะทางการเงินโดยมีเงินสดสุทธิในช่วง 3 ปีงบประมาณข้างหน้าต่อไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 1.8-2 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนตามแผน รวมถึงใช้ในการลงทุนอื่น ๆ และการจ่ายเงินปันผลด้วย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-รายได้จะได้รับแรงกดดันในปีงบประมาณ 2563 และจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.25-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปีงบประมาณ 2564-2565
-อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17%
-เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทไทยเบฟได้ต่อไป ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจชาพร้อมดื่มและธุรกิจร้านอาหารไปพร้อมกับการมีผลการดำเนินงานที่ปรับดีขึ้นและคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
โดยปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนด้วยการก่อหนี้เชิงรุก หรือหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงกว่าที่ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานและมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและอย่างต่อเนื่อง หรือหากบริษัทมีแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเช่นกันในกรณีที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับความช่วยเหลือที่บริษัทได้รับจากบริษัทไทยเบฟนั้นเปลี่ยนแปลงไป