“สธ.” เผยล่ามแรงงานไทย ประจำซาอุฯ เสียชีวิตจาก “โควิด” พบปอดติดเชื้อ-อาการรุนแรงมาก่อน
“สธ.” เผยล่ามแรงงานไทย ประจำซาอุฯ เสียชีวิตจาก “โควิด” พบปอดติดเชื้อ-อาการรุนแรงมาก่อน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 1 ราย โดยเป็นเจ้าหน้าที่ชายไทยวัย 54 ปี ทำงานเป็นล่ามให้กับแรงงานไทยที่ซาอุดิอาระเบีย เริ่มป่วยตั้งแต่เดือน ก.ค.63 จากการติดเชื้อตั้งแต่ที่ซาอุดิอาระเบีย และประสานส่งตัวมารักษาที่รพ.ราชวิถี เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยขณะที่ส่งตัวมายังรพ.ราชวิถีนั้น ผู้ป่วยอาการค่อนข้างหนัก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เมื่อมาถึงได้ทำการตรวจหาเชื้อซ้ำ แต่ก็ไม่พบเชื้อฯ แต่เมื่อทำการเอ็กซเรย์พบว่า การทำงานของปอดเสียหายแล้วมี ถือว่าอาการค่อนข้างหนัก กระทั่งเสียชีวิตลงในช่วงเที่ยงวันนี้ (18 ก.ย.)
“ผู้ป่วยรายนี้ตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ส่งต่อมารักษาที่ราชวิถีแล้ว แต่จะบอกว่าไม่ได้เสียชีวิตจากโควิดก็คงไม่ใช่ เพราะการป่วยโควิด-19 ทำให้การทำงานของปอดเสียหาย และอาการรุนแรงมาก่อน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ เปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายดังกล่าวว่า เริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อยขณะทำงานอยู่ที่ซาอุดิอาระเบียตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ตรวจเจอเชื้อตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. โดยยังพักรักษาอาการที่บ้าน
26 ก.ค.เข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ซาอุดิอาระเบีย ด้วยอาการหายใจไม่สะดวก มีไข้ ไอ
31 ก.ค.อาการรุนแรงขึ้นจนต้องย้ายเข้าห้อง ICU
10 ส.ค.คนไข้หยุดหายใจจนต้องปั๊มหัวใจและใส่ท่อช่วยหายใจ
จากการตรวจเชื้อที่ซาอุดิอาระเบีย 4 ครั้งนั้น ใน 2 ครั้งแรกพบเชื้อโควิด แต่ต่อมาใน 2 ครั้งหลังตรวจไม่พบเชื้อ คือในวันที่ 25 ส.ค.และ 30 ส.ค.
ต่อมาผู้ป่วยประสานขอให้ส่งตัวกลับมารักษาในประเทศไทย จึงได้ส่งตัวด้วยเครื่องบินพยาบาล (Air Ambulance) ส่งตัวกลับมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ก.ย.เดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 2 ก.ย.โดยถอดท่อช่วยหายใจได้ ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีได้ใช้รถพยาบาลที่มี Capsule Transfer ไปรับตัว แม้ว่าผลการตรวจ 2 ครั้งจะไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม
3 ก.ย.คนไข้มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นจนต้องกลับมาใส่ท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เพาะเชื้อพบว่าติดเชื้อแบคทีเรีย และพบว่าปอดข้างขวาเสียหายจากโรคโควิด ซึ่งคนไข้มีอาการทรง ๆ ทรุด ๆ จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมาทรุดลงมาโดยตลอด
ขณะที่ ผศ.นพ.พจน์ เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลได้ประเมินผู้ป่วยตั้งแต่รับตัวเข้ามาพบว่ามีอาการปอดอักเสบต่อเนื่องจากเดิมที่เป็นผลจากการติดเชื้อโควิด แม้ว่าจะดีขึ้นตามลำดับ แต่พบว่ามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียตั้งแตก่อนเดินทางมา และได้รับยาปฏิชขีวนะต่อเนื่องมา ระบบทางเดินหายใจและปอดด้านขวาเสียหายจากภาวะการอักเสบรุนแรงสืบเนื่องจากโควิด ทำให้การหายใจค่อนข้างลำบาก หลังรับตัวเข้ามารักษาได้ไม่ถึง 10 ชม.ก็ต้องกับมาใส่ท่อช่วยหายใจอีกครัง ตรวจพบแบคทีเรียดื้อยาซ้ำซ้อน
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องหัวใจ เนื่องจากมีการปั๊มหัวใจตั้งแต่อยู่ที่ซาอุดิอาราเบีย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับบาดเจ็บ ตรวจคลื่นหัวใจพบว่าผิดปกติ เสี่ยงที่จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ และยังมีอาการผิดปกติต่อเนื่องจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการให้ยารักษาโรคอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ
ผู้ป่วยยังมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เมื่อเข้ารับการรักษาได้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดพบว่าผันผวนในช่วงกว้าง 100-440 ทำให้มีความยุ่งยากในการควบคุมน้ำตาลในเลือด เมื่อควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีจึงส่งผลต่อการรักษาอาการติดเชื้อซ้ำแบคทีเรียดื้อยามีความยุ่งยากขึ้น และมีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อซ้ำต่อเนื่อง โดยมีการให้ยาปฏิชีวนะหลายขนานและตอบสนองไม่ดี
จนกระทั่งเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาเราต้องเพิ่มยาควบคุมความดันเลือดเพราะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ในสภาพของปอดอักเสบและเสียหายต่อเนื่อง ทำให้สภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมีอาการของอวัยวะอื่นล้มเหลว ทั้งระบบเลือด และไตวายจากการติดเชื้อ ปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกันทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ถูกนับเป็นผู้ป่วยลำดับที่ 3,430 จากการติดเชื้อโควิดมาตั้งแต่ซาอุดิอาระเบีย โดยการส่งตัวมาเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรค ไม่มีผู้สัมผัสเพิ่มเติม ซึ่งจากการที่ผู้ป่วยด้วยโรคโควิดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเสียชีวิต ทางระบาดวิทยาจึงอาจจะต้องนับว่าผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดรายที่ 59 แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการภายใต้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ให้ความเห็นเพิ่มเติมเพราะบังเอิญตรวจไม่พบเชื้อตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว