“สรรพสามิต” คาดปีงบ 63 เก็บรายได้เกิน 5.2 แสนลบ. หนุนลดภาษีน้ำมันเครื่องบินอีก 6 เดือน
“กรมสรรพสามิต” คาดปีงบ 63 เก็บรายได้เกิน 5.2 แสนลบ. หนุนลดภาษีน้ำมันเครื่องบินอีก 6 เดือน
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต คาดว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-ก.ย.63) จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 5.2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน จากผลการจัดเก็บภาษีรถยนต์และภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 63
“เดิมเราเคยคุยกันว่าจากปัญหาโควิด อาจทำให้ปีนี้เก็บภาษีได้ไม่ถึง 4.8 แสนล้านบาทด้วยซ้ำ แต่พอมาช่วงไตรมาส 4 ปีงบ 63 กลับพบว่ายอดจัดเก็บภาษีรถยนต์ และภาษีน้ำมันทำได้เกินกว่าที่เราคาดไว้ โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กหรือรถครอบครัว ที่มีการปรับโฉมใหม่ในหลายรุ่น หลายยี่ห้อ รวมทั้งสถานประกอบการต่างก็เริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 ได้มีการปรับปรุงเป้าหมายการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตมาอยู่ที่ 5.01 แสนล้านบาท จากผลกระทบของการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งปรับลดลงจากเป้าหมายเดิมในครั้งแรกที่ตั้งไว้ที่ 5.85 แสนล้านบาท
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 อธิบดีกรมสรรพสามิต มั่นใจว่าถ้าไม่มีสถานการณ์รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ก็เชื่อว่าการจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตจะสามารถทำได้ 5.34 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้
“เป้าปี 64 เราได้รับมา 5.34 แสนล้านบาท กรมฯ ประเมินว่าในช่วงท้ายของปีงบ 63 ตัวเลขจัดเก็บค่อนข้างดี ถ้าในปีงบ 64 ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงเหมือนกับโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างปีนี้ เราคิดว่ากรมฯ น่าจะจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า” อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ
อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังกล่าวถึงการพิจารณาขยายเวลายกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินในประเทศให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินว่า ล่าสุดทราบว่าผู้บริหารสายการบินได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบการในการขยายเวลาการยกเว้นภาษีดังกล่าวออกไป จากที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนก.ย.63 ซึ่งกรมสรรพสามิตในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ คงต้องรอว่าระดับนโยบายจะมีความเห็นในประเด็นนี้อย่างไร
ทั้งนี้ ยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไปทุกภาคส่วน ดังนั้น โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าหากการปรับลดภาษีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และมีส่วนช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ
“สายการบิน Low cost จะเป็นตัวกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ต้องมาประเมินชั่งน้ำหนักกัน ถ้าจะต่อให้ ก็คงให้คราวละ 6 เดือน แต่ต้องรอดูข้อเท็จจริงก่อน ระดับนโยบายคงต้องดูว่าทำได้หรือไม่ อย่างไร มีผลดี ผลเสียอย่างไร ถ้าเป็นผลดี เชื่อว่ารัฐบาลยินดีอยู่แล้ว…ขณะนี้ต้องยอมรับว่าทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิดกันหมด ดังนั้น อะไรที่ประเมินแล้วว่าลดภาษีแล้วเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า คือ มีกำไรเกิดขึ้น เรายินดีจะสนับสนุน” อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ
ส่วนการจัดเก็บภาษีความเค็มนั้น นายพชร กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวมาจากนโยบายการขยายฐานภาษี และอีกส่วนก็เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนเอง แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ รวมทั้งประชาชนได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงมองว่าในช่วงเวลานี้จึงยังไม่เหมาะสมที่จะมีการเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว
“จากปัญหาโควิด ผู้ประกอบการยังมีผลกระทบ ประชาชนได้รับผลกระทบ อะไรที่ขยายฐานจะมีผลกระทบทั้งบวกและลบในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในช่วงเวลานี้ ยังไม่เหมาะสมที่จะเสนอรัฐบาลว่าจะขยายฐานภาษีอะไร” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข และกรมสรรพสามิตได้ร่วมกันหารือถึงเพดานการบริโภคโซเดียมในปริมาณต่อวันที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งหารือกับผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างแสดงความพร้อมที่จะปรับสูตรการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็มแล้ว