6 หุ้นน่าลงทุน-รับประโยชน์จากน้ำมันขาลง
บล. เอเซียพลัส แนะลงทุน 6 หุ้นรับประโยชน์จากช่วงน้ำมันขาลง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง TASCO,DCC กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง SEAFCO,PYLON,SYNTEC, กลุ่มค้าปลีกส่ง CPALL
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (25 ส.ค.) ว่า เช้านี้ ราคาน้ำมันโลกยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดูไบ ลดลงมาอยู่ที่ 42.97 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งนับว่าเป็นระดับต่ำใหม่ เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดในเดือน ม.ค. 2558 ที่ 43.23 เหรียญฯ/บาร์เรล จากแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มจะบริโภคน้ำมันน้อยกว่าคาด
ขณะที่ทางด้านผู้ผลิตยังคงปรับลดการผลิตล่าช้า โดยทางฝั่ง Opec ยังยืนกรานจะผลิตน้ำมันต่อไปเนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผู้ผลิตรายใหม่ที่ผลิตจากชั้นหินดินดาน เช่น สหรัฐ ดังนั้น ณ ราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน ผู้ผลิตรายใหญ่จะยังคงผลิตต่อไปหรือไม่ ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้นทุนสูงต้องออกจากอุตสาหกรรม และอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสฟื้นตัวได้บ้าง
ทั้งนี้หากพิจารณาราคาน้ำมันดิบดูไบ จากต้นปีจนถึงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ราว 55 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งหากพิจารณาสมมติฐานที่นักวิเคราะห์พลังงานของ ASPS ประเมินไว้ทั้งปี 2558 ไว้ที่ 53 เหรียญฯ/บาร์เรล นั่นใหม่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะต้องทำให้ได้เฉลี่ย 47.75 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งเชื่อยังมีความเห็นเป็นไปได้อยู่ นักลงทุนที่มีหุ้น PTTEP, PTT ยังแนะนำให้ถือหุ้นต่อไป ในทางตรงกันข้ามผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนน่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ คือ
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนพลังงาน ได้แก่ ถ่านหิน ค่าไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ จะปรับตัวลดลงตาม โดยหากโครงสร้างต้นทุนมีสัดส่วนต้นทุนพลังงานที่มาก ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ คือ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ซึ่งใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบโดยตรงในการผลิตยางมะตอย เช่นเดียวกับ บริษัท ไดนาสตี้เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ DCC โครงสร้างต้นทุนมีส่วนของก๊าซธรรมชาติสูงถึง 30%
อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติจะมี Lag time จากราคาน้ำมันประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้คาดว่าประโยชน์ที่ได้จากการประหยัดต้นทุนน้ำมัน น่าจะมากกว่ายอดขายในประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง น่าจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงเช่นกัน แม้ว่าโครงสร้างต้นทุนงานก่อสร้างทั่วไป จะมีองค์ประกอบของน้ำมันไม่เกิน 5% ของต้นทุนทั้งหมด (ใช้ในส่วนของเครื่องจักรหนัก) แต่ราคาวัสดุก่อสร้างที่ได้รับอานิสงส์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมัน น่าจะทำให้สัดส่วนต้นทุนที่เป็นวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก และปูน) ซึ่งคิดเป็น 40% ของต้นทุนทั้งหมด มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมา โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาที่เน้นรับงานจากภาคเอกชน เช่น บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO, บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือPYLON, บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSYNTEC จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนงานก่อสร้างที่ลดลงอย่างเต็มที่
กลุ่มค้าปลีก-ส่ง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง มีผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ปรับลดลง เนื่องจากมีการใช้รถขนส่งจำนวนมากในการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ (แต่การปรับลดต้นทุนค่าขนส่งดังกล่าวอาจมี Lag time เนื่องจากการขนส่งส่วนใหญ่เป็น Outsource)
รวมทั้งค่าไฟฟ้าภายในห้างที่อาจมีแนวโน้มลดลงหลังจากนี้ ฝ่ายวิจัยได้เคยประเมินเบื้องต้น พบว่าสัดส่วนของต้นทุนโลจิสติกส์และค่าไฟฟ้าของกลุ่มฯ จะอยู่ที่ราว 2-4% ของยอดขาย ซึ่งหากตั้งสมมติฐานตัดลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวราว 12% เกิดจากค่าน้ำมันลดลง 20% และค่าไฟลดลง 5% จะส่งผลให้ต้นทุนดำเนินงานของกลุ่มลดลงและฐานกำไรกลุ่มเพิ่มขึ้นจากประมาณการปัจจุบันราว 2-3% ของกำไรโดยหุ้นค้าปลีกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค.ร่วงลง 2.21 ดอลลาร์ ปิดที่ 38.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค.ดิ่งลง 2.77 ดอลลาร์ ปิดที่ 42.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบเนื่องจากความวิตกกังวลว่า การร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลกอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจและอุปสงค์พลังงานทั่วโลกอ่อนแรงลงด้วย โดยเมื่อวานนี้ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนที่ดิ่งลงไปกว่า 8% แม้มีรายงานว่าทางการจีนเปิดทางให้กองทุนบำเหน็จบำนาญสามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้ก็ตาม