ครม. บรรจุ “โควิด” โรคต้องห้าม สกัดต่างชาติป่วย เข้าไทย-เคาะงบกลาง 204 ลบ. รับมือระลอกสอง

ครม. บรรจุ “โควิด” โรคต้องห้าม สกัดต่างชาติป่วย เข้าไทย-เคาะงบกลาง 204 ลบ. รับมือระลอกสอง


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (22 ก.ย.63) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง โดยให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นโรคต้องห้ามตามมาตรา 12 (4) และมาตรา 44 (2) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้โรคโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยกำหนดไว้ว่า ห้ามคนต่างชาติที่เป็นโรคโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค.63 มีการคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศจำนวน 7,049,619 ราย พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการเข้าตามนิยามคัดกรองจำนวน 2,313 ราย แยกเป็นที่ด่านสนามบิน 2,299 ราย ด่านท่าเรือ 2 ราย และด่านพรมแดน 12 ราย  มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 3,255 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 811 ราย เสียชีวิต 58 ราย

โดยพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกักกันในสถานที่ที่รัฐกำหนดสะสม 318 ราย คิดเป็น 0.73% ทำให้ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงในการเกิดการระบาดใหญ่ได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหลายประเทศก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค

นอกจากนั้น ที่ประชุม ครม. ยังอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอก 2 จำนวน 204 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นในระลอก 2 ให้อยู่ในวงจำกัด ลดโอกาส การแพร่เชื้อเข้าสู ประเทศ ลดผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงสามารถดูแลคนไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศ ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกโดยข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสมจำนวนทั้งสิ้น 31,468,646 ราย เสียชีวิต 968,840 ราย โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม ณ วันที่ 22 ก.ย. จำนวน 3,511 ราย เสียชีวิต 59 ราย อยู่ในระหว่างพักรักษาจำนวน 109 ราย รักษาหายแล้วจำนวน 3,343 ราย

โดยขณะที่ประเทศไทยได้ยกระดับการแจ้งเตือนโรคในผู้เดินทางให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ติดตามสถานการณ์โรคทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการทรัพยากร เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งการคัดกรอง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และเชียงราย

และรัฐบาลมีนโยบายให้ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศต้องกักตัวประมาณ 14  วัน ณ สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ในระดับประเทศ (National State Quarantine) และระดับจังหวัด (Local State Quarantine) เพื่อดูแลประชาชนชาวไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศให้ปลอดภัยตามหลักการป้องกัน การแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติและสัมผัสกับผู้ป่วยด้านการสอบสวนโรคการรักษาได้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

Back to top button