PTT ชูหลัก 4 R รับมือราคา “น้ำมันดิบ” ขาลง
PTT ชูหลัก 4 R รับมือราคา “น้ำมันดิบ” ขาลง
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานสัมมนา BATTLE STRATEGY ในหัวข้อ “ถอดรหัส…กลยุทธ์ Reimagination”ว่า ปตท.วางเป้าหมายการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ประเมินว่าจะยังเคลื่อนไหวระดับต่ำที่กว่า 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลไปอีกระยะหนึ่ง หลังทั่วโลกยังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19
โดยในส่วนของธุรกิจขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP หรือปตท.สผ. ก็ต้องลดต้นทุนต่อหน่วยลงเหลือ 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปัจจุบันที่ทำได้ราว 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
รวมถึงการจัดหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ในพอร์ตให้เน้นไปที่แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ เพราะมองว่าก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่งพลังงานช่วงเปลี่ยนถ่ายก่อนที่จะเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน (Renewable) อย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะใช้เวลา 10-20 ปี ขณะที่ภาคพลังงานถ่านหินน่าจะเริ่มหมดยุคก่อน และตามด้วยภาคพลังงานน้ำมัน
“ก๊าซเป็น transition ปตท.สผ. ต้อง Go gas แหล่งข้างหน้าที่จะไปหาต้องเน้นไปที่ก๊าซฯ เน้น Operation Excellent ต้นทุนต้องสู้ได้ เพราะราคาน้ำมันเรามองว่าคงจะอยู่ระดับบวกลบ 40 ไปอีกสักพัก เราตั้งเป้าลดต้นทุนให้อยู่ระดับ 25 เหรียญต่อหน่วย ตอนนี้เขาก็ทำได้ต้นทุนอยู่ 30 เหรียญต่อหน่วย แต่เราวางเป้าเป็น 25 เพื่อให้ยืนอยู่ได้อย่างดี” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกหายไปราว 10% และทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ราว 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงก่อนโควิดที่ราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ราว 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอนโอเปกจะร่วมกันลดกำลังการผลิตแต่ก็ยังไม่สามารถดึงราคาน้ำมันให้กลับขึ้นไปได้ และน่าจะยังคงอยู่ที่ราว 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจนถึงช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนปรับตัวเอง โดยปตท.ได้จัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อที่จะดูแลและบริหารจัดการองค์กรตามแนว 4 R คือ
Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าลดค่าใช้จ่ายของกลุ่มปตท.ในปีนี้ไว้ที่กว่า 2 หมื่นล้านบาท
โดยในส่วนนี้เป็นของปตท.กว่า 6 พันล้านบาท และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของทั้งกลุ่มได้อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมกันนี้ยังได้เพิ่มสภาพคล่ององค์กรด้วยการออกหุ้นกู้สกุลบาท 3.5 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำให้มั่นใจว่ากลุ่มปตท.สามารถยืนอยู่ได้ในช่วงวิกฤติ
Restart การเตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาความสามารถทางการแข่งขัน และมองโอกาสรีสตาร์ทประเทศไทย ด้วยโปรแกรมส่งเสริมการจ้างงานซึ่งล่าสุดมีแผนรับนักศึกษาจบใหม่กว่า 2,600 อัตรา และจ้างงานภาคส่วนต่าง ๆ รวมกว่า 25,000 อัตรา พร้อมกับเร่งงานโครงการก่อสร้างที่เคยชะลอไปก่อนหน้านี้
Reimagination การเตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมองไว้ใน 2 ส่วน คือเรื่องของ Go green สิ่งแวดล้อม ที่ในท้ายที่สุดจะเปลี่ยนเข้าสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเต็มที่ และพลังงานฟอสซิลก็จะค่อย ๆ ลดลงซึ่งจะเริ่มเห็นบ้างแล้วในส่วนของถ่านหิน และน้ำมัน ส่วนก๊าซธรรมชาติ มองว่าจะยังเป็นพลังงานในช่วงเปลี่ยนถ่าย ซึ่งต้องใช้เวลาเป็น 10-20 ปี และ Go Electric ซึ่งมองว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะต้องเข้ามาแน่หลังทุกฝ่ายมองเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานหมุนเวียน จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของ Go green และ Go Electric ซึ่งจะเป็น 2 ทิศทางใหญ่ของภาคพลังงาน
Reform พิจารณาปรับเปลี่ยนโดยจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของปตท.ก็จะมุ่งเน้นไปที่ LNG Value Chain มากขึ้น และขยายต่อไปยังธุรกิจไฟฟ้าในรูปแบบของ Gas to Power ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจก๊าซฯของปตท. PTTEP และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
ส่วนธุรกิจโรงกลั่น ก็จะใช้กลยุทธ์การเป็น last man standing ในธุรกิจการกลั่น ด้วยการเป็น first quartile ของกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้สามารถยืนอยู่ได้ในระยะ 30-40 ปี ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี ก็จะหันมาเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialties) มากขึ้น
ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก ก็จะปรับตัวมุ่งเน้นการขายแบรนด์เป็นสำคัญ ไม่เน้นการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว
รวมถึงยังใช้พื้นที่สถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์รวมการช่วยเหลือสังคม และการขยายแบรนด์ออกไปยังต่างประเทศด้วย ด้านธุรกิจไฟฟ้าก็จะมุ่งเน้นเรื่องของพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น พร้อมเพิ่มเติมเรื่อง Electricity Value Chain ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้า
ทำให้มีโอกาสต่อยอดไปสู่สมาร์ทกริดในอนาคต รวมถึงปตท.ยังมีการลงทุนใน New S-Curve ซึ่งมีเป้าหมายจะมีเงินลงทุน 10% ของพอร์ต โดยเฉพาะให้ความสนใจธุรกิจที่มีทิศทางในอนาคต โดยล่าสุดเตรียมลงนามสัญญาร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง กับองค์การเภสัชกรรม
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ปตท.ยังมีโปรแกรมหลายอย่างเพื่อช่วยดูแลสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยล่าสุดในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็จะจัดงบประมาณสนับสนุนให้กับพนักงานออกไปท่องเที่ยวในประเทศ โดยพนักงานและปตท.ออกฝ่ายละครึ่งเพื่อช่วยเหลือจุนเจือสังคมให้เติบโตไปด้วยกัน