สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ก.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ก.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ หลังรายงานเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน รวมทั้งความล่าช้าในการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ โดยหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหนักสุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัวลง ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงเนื่องจากแรงขายทำกำไร

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,763.13 จุด ร่วงลง 525.05 จุด หรือ -1.92% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,632.99 จุด ลดลง 330.65 จุด หรือ -3.02% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,236.92 จุด ลดลง 78.65 จุด หรือ -2.37%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเดินทางและกลุ่มผลิตภัณฑ์กีฬา และนักลงทุนมีความหวังว่าธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆ จะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.55% ปิดที่ 359.53 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,802.26 จุด เพิ่มขึ้น 29.42 จุด หรือ +0.62%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,642.97 จุด เพิ่มขึ้น 48.58 จุด หรือ +0.39, และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,899.26 จุด เพิ่มขึ้น 69.80 จุด หรือ +1.20%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) โดยฟื้นตัวขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากหุ้นกลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง หลังอังกฤษออกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ครั้งใหม่

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,899.26 จุด เพิ่มขึ้น 69.80 จุด หรือ +1.20%

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,900 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ยังทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 39.2 ดอลลาร์ หรือ 2.05% ปิดที่ 1,868.4 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.ปีนี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.418 ดอลลาร์ หรือ 5.78% ปิดที่ 23.105 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 14.4 ดอลลาร์ หรือ 1.68% ปิดที่ 843 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 28.70 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 2,258.30 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) ขานรับรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 13 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 39.93 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 5 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 41.77 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) โดยนักลงทุนเดินหน้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.43% แตะที่ระดับ 94.3914 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.41 เยน จากระดับ 104.92 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9241 ฟรังก์ จากระดับ 0.9198 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3378 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3309 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1656 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1704 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2715 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2733 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7076 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7166 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button