สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 25 ก.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 25 ก.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ย.) หลังการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน โดยแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้ช่วยหนุนตลาด แต่ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P 500 ยังคงติดลบเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการออกมาตรการช่วยเหลือครั้งใหม่จากรัฐบาลสหรัฐ, ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและยุโรป
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,173.96 จุด เพิ่มขึ้น 358.52 จุด หรือ +1.34%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,298.46 จุด เพิ่มขึ้น 51.87 จุด หรือ +1.60% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,913.56 จุด เพิ่มขึ้น 241.30 จุด หรือ +2.26%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ย.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับมาตรการควบคุมครั้งใหม่ในยุโรป เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.10% ปิดที่ 355.51 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,729.66 จุด ลดลง 32.96 จุด หรือ -0.69% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,469.20 จุด ลดลง 137.37 จุด หรือ -1.09% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,842.67 จุด เพิ่มขึ้น 19.89 จุด หรือ +0.34%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นวิลเลียม ฮิลล์ที่ทะยานขึ้นเกือบ 44% ขานรับข่าวการถูกเสนอเทคโอเวอร์กิจการ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,842.67 จุด เพิ่มขึ้น 19.89 จุด หรือ +0.34%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่ลดลง หลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้น และหลายประเทศดำเนินมาตรการควบคุมการเดินทางอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 6 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 40.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 2 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 41.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ย.) โดยถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งทำให้สัญญาทองคำมีความน่าสนใจน้อยลง เนื่องจากดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้ทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่นๆ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 10.6 ดอลลาร์ หรือ 0.56% ปิดที่ 1,866.3 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาทองปรับตัวลง 4.9% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 10.3 เซนต์ หรือ 0.44% ปิดที่ 23.093 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 4 ดอลลาร์ หรือ 0.48% ปิดที่ 842 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 4.70 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 2,222.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ย.) โดยนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.3% แตะที่ระดับ 94.6429 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนที่ระดับ 105.60 เยน จากระดับ 105.41 เยน, ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9288 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9264 ฟรังก์สวิส และดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3395 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3352 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.1622 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1666 ดอลลาร์, ปอนด์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.2730 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2741 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ 0.7024 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7050 ดอลลาร์