สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 ก.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 ก.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) ซึ่งเป็นการปิดในแดนลบวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นก่อนที่การดีเบตรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จะเปิดฉากขึ้นในวันนี้เวลา 08.00 น.ตามเวลาไทย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,452.66 จุด ลดลง 131.40 จุด หรือ -0.48% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,335.47 จุด ลดลง 16.13 จุด หรือ -0.48% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,085.25 จุด ลดลง 32.28 จุด หรือ -0.29%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนชะลอการซื้อหุ้นเพื่อรอดูการดีเบตรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงในศึกเลือกตั้งสหรัฐ โดยการดีเบตดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าวันพุธนี้ประมาณ 08.00 น.ตามเวลาประเทศไทย

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.52% ปิดที่ 361.49 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,832.07 จุด ลดลง 11.20 จุด หรือ -0.23%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,825.82 จุด ลดลง 45.05 จุด หรือ -0.35% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,897.50 จุด ลดลง 30.43 จุด หรือ -0.51%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้น รวมไปถึงการออกมาตรการควบคุมเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,897.50 จุด ลดลง 30.43 จุด หรือ -0.51%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 40 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลงในระยะยาว ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 1.31 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 39.29 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.ปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 1.40 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 41.03 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.ปีนี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 20.9 ดอลลาร์ หรือ 1.11% ปิดที่ 1,903.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.ปีนี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 84.1 เซนต์ หรือ 3.56% ปิดที่ 24.445 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 6.3 ดอลลาร์ หรือ 0.71% ปิดที่ 897.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 57.80 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 2,329.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรหลังจากดัชนีดอลลาร์พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่นักลงทุนจับตาการดีเบตรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต ในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.40% แตะที่ 93.8937 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9195 ฟรังก์ จากระดับ 0.9245 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.68 เยน จากระดับ 105.52 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3385 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3371 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1737 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1664 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2861 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2837 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7129 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ  0.7070 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button