“พาณิชย์” เผยใช้ FTA-GSP ครึ่งปีแรก ร่วง 15% เซ่นพิษ “โควิด” กดดันส่งออกโลก
“กระทรวงพาณิชย์” เผยใช้ FTA-GSP ครึ่งปีแรก ร่วง 15% เซ่นพิษ “โควิด” กดดันส่งออกโลก
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย.63 โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 30,848.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.61% แบ่งเป็น มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 28,534.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,314.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ลดลง 14.26% โดยได้รับผลกระทบหลักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังดำเนินไปในหลายประเทศ ซึ่งกดดันการส่งออกทั่วโลก อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากการใช้สิทธิฯ ส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปที่พุ่งต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 แล้ว ไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกด้วย
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 28,534.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.47% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.25% ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 9,490.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) จีน (มูลค่า 9,567.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 3,402.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 2,937.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,573.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (100%) 2) อาเซียน-จีน (91.67%) 3) ไทย-เปรู (88.25%) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (84.18%) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (71.71%)
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วงม.ค.-มิ.ย.63 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,314.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.07% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 83.26% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,043.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.39% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.24% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 177.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.65% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 64.10% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 76.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 11.29% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.26% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 16.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 59.30% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 100%
ส่วนภาพรวมในช่วงครึ่งปี 2563 การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ยังคงลดลง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของไทย โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวพบว่า ไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าที่มีความต้องการสูงในช่วงการแพร่ระบาด โดยเฉพาะสินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้นในหลายความตกลงฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีโอกาสส่งออกไปได้จากความต้องการในหลายประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว
สำหรับอาเซียน-จีน สินค้าในกลุ่มดังกล่าวที่มีการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้น เช่น ถุงมือยาง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 46.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 75.19%) เทอร์โมมิเตอร์ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 13.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 100%) อาเซียน-เกาหลี เช่น เครื่องแต่งกายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 2.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 67%) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์หรือสารทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 100%) อาเซียน-ญี่ปุ่น เช่น เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปลงสภาพ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 4.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.73%) เสื้อผ้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้าใช้ป้องกัน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.09 ขยายตัว 54.15%)
ไทย-ออสเตรเลีย เช่น เครื่องกรองอากาศ/เครื่องสร้างและลำเลียงออกซิเจน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 11.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 100%) สบู่ที่มีลักษณะเป็นของเหลวหรือครีม (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 3.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 36.22%) สหรัฐอเมริกา เช่น แว่นตาใช้ในการป้องกัน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 54.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 100%) ถุงมือถักที่หุ้มด้วยพลาสติกหรือยาง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 4.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 72) เป็นต้น ในขณะที่การใช้สิทธิฯ ส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปไปยังหลายประเทศคู่ค้าในภาพรวมยังพุ่งต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี อาทิ ผลไม้ ทุเรียนสด ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง เป็นต้น