“พาณิชย์-กยท.” จับคู่ซื้อขายยางออนไลน์ ยอดทะลุเป้า 2.3 หมื่นตัน มูลค่า 1,450 ล้านบ.

“พาณิชย์-กยท.” จับคู่ซื้อขายยางออนไลน์ กระตุ้นส่งออก ยอดทะลุเป้า 2.3 หมื่นตัน มูลค่า 1,450 ล้านบ.


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเยี่ยมชมจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และภาคเอกชนจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาทางธุรกิจ เพื่อเร่งรัดการส่งออกยางของไทย ตั้งแต่วันที่ 23-30 ก.ย.2563 สามารถจับคู่ธุรกิจได้แล้วถึง 69 คู่ ระหว่างผู้ประกอบการไทย 42 ราย และผู้ซื้อจาก 20 ประเทศ คือ จีน เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย เยอรมนี เช็ก ฝรั่งเศส ฮังการี รัสเซีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย ตุรกี อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐฯ และอาร์เจนตินา โดยมียอดขายทะลุ 23,000 ตัน มูลค่าประมาณ 1,450 ล้านบาท

ขณะที่ ยังมีความต้องการซื้อยางจากไทยเพิ่มเติมอีก จึงขยายเวลาจัดงานจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ไปอีก 2 วัน คือ 1-2 ต.ค.  ซึ่งคาดว่าจะทำยอดขายได้เพิ่มเติมอีก

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับราคายางในประเทศขณะนี้ราคายางแผ่นรมควัน กิโลกรัมละ 58 – 59 บาท ยางแผ่นดิบ กิโลกรัมละ 56 บาท น้ำอย่างข้นกิโลกรัมละ 50 บาท ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 19 – 20 บาท ราคา F.O.B. คือราคาส่งออก ณ ท่าเรือของประเทศไทย สำหรับยางแผ่นรมควันราคาเมื่อวานมากกว่า 63.15 บาท สวนยางแผ่นดิบ 56.31 บาทน้ำยางข้น 51.50 บาท ยางก้อนถ้วย 20 บาท

เหตุผลที่ราคายางช่วงนี้สูงขึ้นมาจาก 2 เหตุผลใหญ่ 1.มาตรการเชิงรุกของรัฐบาล และ 2.ตลาดโลกมีความต้องการอย่างมากขึ้น สำหรับตลาดโลกนั้นเพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง ความต้องการรถยนต์และยางรถยนต์ก็เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการยางแผ่นและยางแท่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำยางที่เอาไปทำถุงมือยางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

“จากที่ได้นำคณะเอกชน และการยางฯ ไปทำสัญญากับต่างประเทศประมาณ 500,000 ตัน ในช่วงก่อนโควิดนั้น ถ้ามีการเร่งรัดการส่งมอบจะเป็นอีกมาตรการหนึ่ง รวมทั้งภาคเอกชนที่ไปทำสัญญาเดิม กับการจะเร่งรัดการทำตลาดในสัญญาใหม่ด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความต้องการยางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการของตลาดโลกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้มีการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น มีการใช้ยางรถยนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้น มีการใช้น้ำยางไปผลิตเพิ่มขึ้นตาม และยังมีการเร่งซื้อยางจากมาตรการเชิงรุกของรัฐบาล ทั้งการส่งเสริมให้หน่วยงานราชการนำยางไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการนำไปทำเสาหลักกิโลและแผ่นครอบกันชน รวมถึงมีการเร่งรัดการส่งมอบตามสัญญาให้กับผู้ซื้อต่างประเทศ ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อที่ได้มาในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด

Back to top button