ศาลปกครอง นัดไต่สวน ปมรื้อทีโออาร์ “สายสีส้ม” 14 ต.ค.นี้ ฟาก “รฟม.” ยันดำเนินการตามกฎหมาย
ศาลปกครอง นัดไต่สวน ปมรื้อทีโออาร์ “สายสีส้ม” 14 ต.ค.นี้ ฟาก “รฟม.” ยันดำเนินการตามกฎหมาย
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ BTS และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) กล่าวว่า จากที่บริษัทได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และขอให้กลับไปใช้รูปแบบเดิมนั้น ศาลนัดไต่สวนนัดแรกในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ซึ่งตามปกติ ศาลจะมีคำสั่งหลังจากไต่สวน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งจะอยู่ช่วงเวลาก่อนที่ยื่นซองในวันที่ 9 พ.ย. 63 ตามที่ รฟม.กำหนดใหม่ ซึ่งหากศาลสั่งคุ้มครองก็จะต้องหยุดกระบวนการประมูล
“การเปลี่ยนกติกา นำคะแนนเทคนิคมารวมกับคะแนนราคานั้น ทำให้เรามีโอกาสเสียเปรียบและยังเป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขหลังจากปิดขายซองไปแล้ว โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติอุโมงค์รถไฟฟ้าขนาดไม่ต่ำกว่า 5 เมตร ที่ใน TOR ระบุว่า ผลงานและประสบการณ์ในประเทศไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การประกวดราคาหาผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังเป็นไปตามกรอบเวลา แม้เอกชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยที่หากยังไม่มีคำสั่งศาลให้หยุด รฟม.ยังคงดำเนินการไปตามกระบวนการ
ทั้งนี้ รฟม.พร้อมชี้แจงในประเด็นต่างๆ และยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องและพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และประกาศของคณะกรรมการ PPP และ เงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ REQUEST FOR PROPOSAL (RFP) ข้อ 7.1 ที่สามารถออกเอกสารเพิ่มเติมได้ ขณะที่มีการขยายเวลาในการยื่นเอกสารออกไปอีก 45 วัน
ส่วนกรณีการกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค เรื่องขุดอุโมงค์นั้น ยืนยันว่า เป็นเทคนิคการก่อสร้างซึ่งเอกชนที่มีประสบการณ์ในการขุดอุโมงค์ และมีเทคนิคในการก่อสร้าง สามารถยื่นได้ทุกราย ซึ่งผู้ซื้อซองหลายรายมีประสบการณ์เรื่องอุโมงค์ ทั้ง บมจ. ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ,บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บมจ. ช.การช่าง (CK) , บ. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ TOR กำหนดว่า สามารถเป็นผู้รับเหมาช่วงได้ ไม่ต้องซื้อซองได้ ซึ่งยังมี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) ,บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง (UNIQ) ที่มีประสบการณ์ ทำอุโมงค์
“ยืนยันว่า ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีประสบการณ์หรือผลงานเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำแต่อย่างใด โดยใน RFP เขียนว่า ผู้รับเหมาต้องมีประสบการณ์อุโมงค์รถไฟฟ้าเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร นอกจากนี้ กรณีมีผลงานในประเทศไทย ไม่ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแต่อย่างใดด้วย”
ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องนำคะแนนเทคนิคมาพิจารณาด้วย เพราะรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีโครงสร้างเป็นอุโมงค์มากกว่า 2 ใน 3 ดังนั้นจะต้องมีมาตรการความปลอดภัยทั้งในการก่อสร้างและการเดินรถ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ซึ่งในข้อเสนอด้านเทคนิคจะมี 3 เรื่อง คือ งานโยธา งานติดตั้งระบบ และการเดินรถ
โดยในการก่อสร้างแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินและลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่อ่อนไหว อาคารเก่า พื้นที่อนุรักษ์ จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องหาวิธีการและ เทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ดีที่สุด เช่นกรณีผ่านพื้นที่อ่อนไหวจะใช้เทคนิควิธีพิเศษอย่างไร มีการดูแลความปลอดภัยในการเจาะใต้แม่น้ำอย่างไร หากมีปัญหา เช่น หัวเจาะติดอยู่ใต้แม่น้ำจะมีวิธีการที่จะไปกู้หัวเจาะอย่างไร
ส่วนการเดินรถนั้น จะต้องออกแบบระบบ มีอุปกรณ์และมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ เช่น กรณีเกิดไฟไหม้ จะอพยพผู้โดยสารออกจากระบบที่อยู่ใต้ดินอย่างไร เป็นต้น