“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.ย. ลดลง 0.7% ภาพรวม 9 เดือนแรก ปี 63 ลบ 0.99%

“กระทรวงพาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.ย. ลดลง 0.7% ภาพรวม 9 เดือนแรก ปี 63 ลบ 0.99%


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ย.63 อยู่ที่ 102.18 หดตัว -0.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -5% ถึง -4.5% และดัชนียังหดตัว -0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.63 ขณะที่ CPI ช่วง 9 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) เฉลี่ยหดตัว -0.99%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.ย.63 อยู่ที่ 102.96 ขยายตัว 0.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.04% จากเดือน ส.ค.63 ส่วน 9 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) Core CPI เฉลี่ยยังเป็นบวก 0.32%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 106.51 ขยายตัว 1.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.08% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.74 หดตัว -1.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว -0.13% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.63

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า CPI หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย.63 ลดลง -0.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดจากสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลก และการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า (Ft) ในรอบเดือนก.ย.-ธ.ค.63 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์ และผักสดปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ

โดยเงินเฟ้อในเดือน ก.ย.นี้ แม้ว่าจะปรับลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทานและอุปสงค์ ซึ่งมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยด้านอุปทานสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ด้านอุปสงค์สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง นอกจากนี้ ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

“สถานการณ์เงินเฟ้อถือว่ายังทรงตัว ไม่ได้มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนมากนัก ยกเว้นกลุ่มสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสินค้าเกษตรบางรายการมีราคาดี เช่น ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า เนื้อหมู สินค้าประมง เช่น กุ้ง เป็นต้น จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น…สินค้าเกษตรในเดือนนี้ จึงเป็นตัว drive เศรษฐกิจในประเทศ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ต้องติดตามต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ เดือนก.ย.63 พบว่ามีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 224 รายการ เช่น เนื้อสุกร, ผักชี-ต้นหอม, กล้วยน้ำว้า, กะหล่ำปลี, ทุเรียน, มะเขือเทศ และข้าวราดแกง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 130 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, ก๊าซหุงต้ม, ส้มเขียวหวาน, มะม่วง เป็นต้น โดยสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา มี 68 รายการ

ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4/63 คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน รวมทั้งราคาอาหารสดบางชนิด อาทิ เนื้อสัตว์และผักสดยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

          “ไตรมาส 4 เชื่อว่าเงินเฟ้อจะดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ และมีวันหยุดยาวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มี demand การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร” ผู้อำนวยการ สนค. กล่าว

โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ หรือ CPI ในไตรมาส 4/63 จะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ -0.34% ซึ่งถือว่าเป็นการติดลบน้อยกว่าทุกไตรมาสของปีนี้ ยกเว้นไตรมาส 1/63 ที่อัตราเงินเฟ้อเป็นบวกเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี สนค. ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 63 ไว้เท่าเดิมที่ -1.5 ถึง -0.7% หรือค่าเฉลี่ยที่ -1.1% จากสมมติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ที่ -8.6 ถึง -7.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 30.50-32.50 บาท/ดอลลาร์

Back to top button