ครม. ทุ่มหมื่นล้านบ. หนุน “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” กระตุ้นจ้างงานกว่า 6 หมื่นราย
ครม. ทุ่มหมื่นล้านบ. หนุนโครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” กระตุ้นจ้างงานกว่า 6 หมื่นราย
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (6 ต.ค.63) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบอนุมัติ “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นหน่วยงานดูแลภารกิจระดับเศรษฐกิจสังคมของตำบล ในแต่ละตำบลจะมี 1 มหาวิทยาลัย เข้าไปช่วยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายหลักที่จะลดความยากจน โครงการนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี
ทั้งนี้ โครงการจะมีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 60,000 คน เพื่อช่วยในกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละตำบล เช่น เป็นการยกระดับเศรษฐกิจของสังคมในตำบล เป็นการสร้างและพัฒนาอาชีพใหม่ เป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมนชน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น สุขภาพ การศึกษา ความปลอดภัยในชุมชน รวมถึงเป็นการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมในแต่ละตำบลด้วย
ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัย 73 แห่งเข้ามาเพื่อดำเนินการในทุกภูมิภาคของประเทศ งบประมาณ 10,629.6 ล้านบาท ในการดำเนินการจะเป็นการจ้างงาน บัณฑิตจบใหม่ ประชาชนในพื้นที่ นักศึกษา
-ในส่วนของประชาชนทั่วไป จะจ้างประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงที่ว่างงาน และไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง จากหน่วยงานอื่น และภาครัฐ หรือเอกชน โดยจ้างในอัตรา 9,000 บาท/เดือน
-บัณฑิตจบใหม่ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี และมีความรู้ความสามารถที่ตรงกับภารกิจการปฏิบัติงาน จะจ้างในอัตรา 15,000 บาท/เดือน
-ส่วนนักศึกษาและนักศึกษาหรือผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ และมีความรู้ความสามารถที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน จะได้อัตราจ้างในอัตราเดือนละ 5,000 บาท
อว.จะดำเนินการจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีการเชื่อมโยงข้อมูลการจ้างงานกับแพลตฟอร์มแรงงาน (Labour Platform) ของกระทรวงแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการ ฯ ซ้ำซ้อนกับโครงการ/มาตรการอื่นๆ ของภาครัฐทั้งหมดต่อไป
เป้าหมายสำคัญของการดำเนินการในปีแรก จะยกระดับตำบลที่มีความพร้อมสูงไปสู่ระดับความยั่งยืน ซึ่งมีประมาณ 750 ตำบลที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนที่ 2 จะยกระดับตำบลที่มีความพร้อมปานกลางไปอยู่ระดับพอเพียง ซึ่งมีประมาณ 1,500 ตำบล ให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองในระดับหนึ่งจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่
ในส่วนที่ 3 จะยกระดับตำบลที่มีความพร้อมต่ำหรือมีความยากลำบากอยู่มาก ไปสู่ระดับที่มีความสามารถจะอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีประมาณ 750 ตำบล
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของตำบลเป้าหมาย เกิดการจ้างงานที่ตอบสนองต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน