กลุ่ม PTT เปิดตัว “โซลาร์ลอยน้ำทะแล” แห่งแรกของไทย นำร่องใช้ภายในก่อนออกสู่ตลาด

กลุ่ม PTT เปิดตัว "โซลาร์ลอยน้ำทะแล" แห่งแรกของไทย นำร่องใช้ภายในก่อนออกสู่ตลาด


นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่มริเริ่มโครงการนำร่องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลเหมาะกับการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน

ด้าน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อนำมาผลิตทุ่นลอยน้ำ เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะแกนนำการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท. ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล โดยในระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ

“โครงการนี้ เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ กลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล ที่ไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังมีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางเป้าหมายไว้” นายวิทวัส กล่าว

ส่วน นายปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า เพื่อตอบสนองการใช้งานทุ่นลอยน้ำชนิดลอยในทะเล ที่มักประสบปัญหาการเกาะสะสมของเพรียงทะเล และการใช้งานกลางแดดจัด ทำให้ทุ่นลอยน้ำเกิดความเสียหายและอายุการใช้งานสั้น PTTGC จึงได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก InnoPlus HD8200B ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปได้ง่าย ช่วยลดความหนา เมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion blow molding) เป็นทุ่นลอยน้ำ

นอกจากนี้ ยังเป็นเป็นทุ่นลอยน้ำต้นแบบที่เพิ่มสารต้านการยึดเกาะและลดการเกาะสะสมของเพรียงทะเลเป็นครั้งแรก ได้การรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสารแต่งเติมป้องกันรังสี UV รับประกันความทนทานต่อรังสี UV 25 ปี ทำให้จากผลการทดสอบที่ผ่านมา พบว่า ทุ่นลอยน้ำในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ ซึ่งลอยอยู่ในน้ำทะเลมีการเกาะสะสมของเพรียงทะเลน้อยลง มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งได้ดีเยี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสัตว์และพืชทะเล

โดย PTTGC ยังคงมุ่งพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุ่นลอยน้ำมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น สามารถต้านการยึดเกาะและลดการสะสมของเพรียงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Application-based) รวมถึงต่อยอดสู่การออกแบบแม่พิมพ์ทุ่นลอยน้ำรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ด้าน นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า GPSC ซึ่งเป็นแกนนำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% เข้าร่วมพัฒนาโครงการต้นแบบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานของประเทศ

โดยมีความแตกต่างจากการพัฒนาระบบโซลาร์ลอยน้ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และได้ผ่านการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งในด้านคุณภาพการจ่ายไฟฟ้า ความคงทนต่อการกัดกร่อนจากความชื้น และความเค็มของน้ำทะเล

ทั้งนี้โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่ม ปตท. ที่ได้มีการผสานเทคโนโลยี ทั้งด้านเคมีภัณฑ์ และนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมที่จะนำแนวทางของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ครั้งนี้ ไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสมทั้งในและต่างประเทศต่อไป

ขณะที่หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) กล่าวว่า จากการติดตั้งระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าจาก Floating Solar ขนาด 100 กิโลวัตต์ สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ PTT Tank ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชน เยาวชนในพื้นที่รวมถึงผู้ที่มีความสนใจทั่วไป

ส่วน นายคมสัน ศักดิ์ศรีวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) กล่าวว่า การติดตั้ง Floating Solar ในน้ำทะเล แตกต่างจากการติดตั้งในบ่อน้ำทั่วไป เนื่องจากต้องมีการคำนึงถึงระดับน้ำทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องออกแบบการคำนวณระบบยึดโยงตามหลักวิศวกรรม และความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริเวณทะเลนี้ เช่น ระดับความสูงของคลื่น ความเร็วลม เพื่อให้การยึดโยงแผงและทุ่นลอยน้ำมีความแข็งแรง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล

ทั้งนี้ CHPP ยังมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับทุ่นลอยน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ ให้ CHPP ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิต และจำหน่ายทุ่นลอยน้ำชั้นนำของประเทศไทย

Back to top button