กมธ. แนะเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น หากต้องทำประชามติแก้ รธน. กันปชช. สับสน
กมธ. แนะเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น หากต้องทำประชามติแก้ รธน. กันปชช. สับสน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ โฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มก่อนรับหลักการ รัฐสภา เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ (7 ต.ค.63) วิปรัฐบาลเข้ามาชี้แจงนำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาล โดยกรรมาธิการฯตั้งข้อสังเกต เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของร่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลว่าแตกต่างกันอย่างไร แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ส่งตัวแทนเข้ามานำเสนอเพื่อให้กรรมาธิการฯ ได้ทำความเข้าใจร่วมกัน
ส่วนการทำประชามติขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากมีความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็น 2 แนวทาง คือ 1.การแก้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่ทำได้ด้วยการแก้ไขมาตรา 256 และ 2.หากมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะถือว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไป ซึ่งไม่น่าจะทำได้ผ่านกลไกการแก้ไขมาตรา 256
ดังนั้น เมื่อทำไม่ได้ก็จะต้องไปสอบถามประชาชนผ่านการทำประชามติก่อนว่าจะให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการทั้งหมด โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ และหากฝ่ายค้านได้เข้ามาชี้แจงเจตนาของฝ่ายค้านในการตั้ง ส.ส.ร.จะเป็นไปในแนวทางไหน เป็นการแก้ไขฉบับเดิม หรือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วร่างใหม่ทั้งฉบับ ทางกรรมาธิการจะได้ประเมินและตัดสินใจได้ถูก
ส่วนที่มีข้อห่วงใยว่าหากมีการทำประชามติจะขัดแย้งกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า หากมีการทำประชามติแล้วตรงกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็เชื่อว่าจะมีความชอบธรรมที่จะเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไป เพราะเชื่อว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า หรือหากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายการเมือง และประชาชนเห็นว่าการทำประชามติสามารถทำร่วมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเดียวกันได้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทาง เพราะประชาชนต้องเดินทางไปที่คูหาเลือกตั้งเพื่อเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่แล้ว ก็สามารถเพิ่มบัตรอีก 1 ใบเพื่อทำประชามติได้ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจและลงคะแนนได้ถูกต้องไม่มีปัญหา