BGRIM คงเป้ารายได้ปี 63 โต 10% กางแผนปีหน้าจ่อปิดดีล M&A ในไทย-มาเลย์ไตรมาส 1/64
BGRIM คงเป้ารายได้ปี 63 โต 10% กางแผนปีหน้าจ่อปิดดีล M&A ในไทย-มาเลย์ไตรมาส 1/64
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM คาดว่า กำไรสุทธิปี 64 จะเติบโตได้จากปีนี้ ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อวิน วินด์ฟาร์ม 1&2 กำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ที่จะเข้ามาในไตรมาส 1/64 รวมถึงการปิดดีลซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่เดินเครื่องผลิตแล้วในไทยและมาเลเซีย รวม 700 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วงไตรมาสแรกเช่นเดียวกัน โดยในส่วนนี้เป็นโรงไฟฟ้า SPP ในไทยมากกว่าครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ บริษัทยังคาดหวังว่าจะได้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราว 2.5 แสนตัน ในช่วงปี 63-64 หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วในเบื้องต้น แต่ยังต้องรอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สรุปอีกครั้งหนึ่งก่อนจะมีการนำเข้าจริง โดยการจัดหา LNG เพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้านั้นจะทำให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลงจากปัจจุบันซื้อก๊าซธรรมชาติจาก บมจ.ปตท. (PTT) โดยต้นทุนก๊าซฯที่ลดลงทุก 1 บาท/ล้านบีทียู จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นราว 15-16 ล้านบาท/ปี
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการนำเข้า LNG ระดับดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสัญญาการซื้อขายก๊าซฯระยะยาวกับ ปตท. เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าของบริษัทรับซื้อก๊าซฯส่วนเกินจากสัญญาซื้อก๊าซฯขั้นต่ำจาก ปตท.ราว. 3.5 แสนตัน/ปี ส่วนการนำเข้า LNG ตามกรอบใหญ่ที่บริษัทได้รับอนุมัติจาก กกพ.ที่ระดับ 6.5 แสนตัน/ปีนั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนโรงไฟฟ้าหมดอายุ (Replacement) จำนวน 5 แห่งแล้วเสร็จในปี 65
“กำไรเราโตอยู่แล้ว เพราะเราจะมี M&A เข้ามาทั้งไทยและมาเลเซีย 700 เมกะวัตต์ ไตรมาสแรกก็น่าจะได้เห็น และยังมีกำลังการผลิตใหม่ของเราที่จะเข้ามาด้วย” นางปรียนาถ กล่าว
โดยวันนี้ BGRIM จัดงานฉลองความสำเร็จเตรียมความพร้อมเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งนับเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อการอุตสาหกรรมจำนวน 7 แห่ง มูลค่ารวม 39,248 ล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนทุนราว 10,000 ล้านบาท และเงินกู้โครงการ (Project finance) จำนวน 29,436 ล้านบาท จากสถาบันการเงิน 5 แห่ง ในสัดส่วนประมาณเท่ากัน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ,ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย (EXIM BANK) ,ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ,ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารออมสิน โดยมีอัตราดอกเบี้ยราว 4% แม้จะมีการกู้เงินครั้งนี้แต่บริษัทยังสามารถรักษาระดับหนี้สินต่อทุน (D/E) ไว้ที่ไม่เกิน 1.5 เท่า
สำหรับโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 7 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งสุทธิรวม 980 เมกะวัตต์ (MW) โดยเป็น SPP Replacement จำนวน 5 แห่ง กำลังการผลิต รวม 700 เมกะวัตต์ เป็นการจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวม 150 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการทั้ง 5 จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 65 ขณะที่โรงไฟฟ้า SPP อีก 2 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าใหม่กำลังการผลิตรวม 280 เมกะวัตต์ จำหน่ายไฟฟ้าให้กับกฟผ.รวม 180 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม โดยโครงการทั้ง 2 จะเริ่ม COD ในปี 66
นางปรียนาถ ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่ทั้ง 7 โครงการมีลูกค้าอุตสาหกรรมรองรับอยู่แล้ว ตามการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมในประเทศ และการขยายงานของลูกค้าเก่า โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าอุตสาหกรรมรวม 670 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เป็นสัญญาลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มในปีนี้ 44 เมกะวัตต์ และบริษัทยังคงมองหาลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง จากที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 3,682 เมกะวัตต์ และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วรวม 3,058 เมกะวัตต์
สำหรับแผนงานในปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายที่จะมีรายได้เติบโต 10% จากระดับ 4.4 หมื่นล้านบาทในปีก่อน มาจากลูกค้ารายใหม่ที่รับซื้อไฟฟ้าตามแผนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากการ COD เข้ามาเต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม กำลังการผลิต 677 เมกะวัตต์
ส่วนระยะยาวบริษัทมีเป้าหมายที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแตะระดับ 7,200 เมกะวัตต์ ในปี 68 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่ราว 75% มาจากเงินกู้โครงการ ส่วนอีก 25% มาจากส่วนทุน ซึ่งปัจจุบันมีเงินสดในมือประมาณ 19,000 ล้านบาท และยังจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าจะมีกระแสเงินสดเพียงพอรองรับการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ได้ รวมถึงยังมีเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ที่พร้อมจะนำออกมาใช้โดยไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน
ตลอดจนยังเปิดโอกาสที่จะมีพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้า โครงการระบบไมโครกริด ระบบสมาร์ทไมโครกริด อย่างล่าสุดได้เข้าทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟภ. เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือ ทั้งทางด้านเทคนิคและทางด้านการเงิน เพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน
สำหรับโครงการที่บริษัทให้ความสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯ LNG ในเวียดนาม ขนาด 2,000-3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในปี 64, การพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3,000 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม หลังจากปี 62 ได้ลงนามความร่วมมือกับ Petrovietnam Power Corporation ศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโดยใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิง , โครงการโซลาร์รูฟท็อปในฟิลิปปินส์ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 6 เมกะวัตต์ เป็นต้น