ด่วน! “ครม.” ไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นบ. กระตุ้นใช้จ่ายในปท.
ด่วน! “ครม.” ไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นบ. กระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นำทีมเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (12 ต.ค.63) ว่า ได้นำทีมเศรษฐกิจมาเพื่อสร้างความมั่นใจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
สำหรับในวันนี้ ที่ประชุมครม. ได้อนุมัติหลายโครงการ ได้แก่ มาตรการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, มาตรการ “คนละครึ่ง” รวมถึงมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท โดยมาตรการดังกล่าวจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.63 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ณ เดือน มี.ค.64
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า มาตรการที่ออกมาทั้งหมด เป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งทั้ง 3 มาตรการ มีเป้าหมายดึงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการหมุนเวียนทั้งระบบ ทั้งการผลิต การจ้างงาน ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ แต่หากนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ก็จะส่งผลต่อปัญหาของหนี้ครัวเรือน ดังนั้น ต้องใช้แนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
อย่างไรก็ตาม จะมีมาตรการอื่นๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของไทยให้ได้ ซึ่งจากการติดตามการแก้ไขปัญหาของทั่วโลก และเมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางของไทยก็มีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในบางประเทศ มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าไทย มีเงินมากกว่าเรา แต่ไทยต้องใช้เงินให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งทุกประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และหลายประเทศก็แย่กว่าไทย และไทยยังมีศักยภาพอยู่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขออย่าทำลายศักยภาพของไทยเอง ด้วยเรื่องที่ไม่ควรจะทำ เพราะหากความเชื่อมั่นหายไป ก็ไม่สามารถดึงกลับมาได้ จะเกิดความเสียหาย เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงการแข่งขันในการแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นช่วงดำเนินการหลังโควิด-19 เพราะถ้าหากทำลายกันตอนนี้ ถึงเวลาจะฟื้นกลับมาไม่ได้
โดยภารกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ มุ่งเน้นการดูแลบรรเทาปัญหา เศรษฐกิจ ปากท้อง ช่วยคนไทย ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก รวมถึงช่วยคนไทยกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) และรัฐบาลกำลังดำเนินการ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก และปรับปรุงมาตรการต่างๆให้ดีขึ้น และออกมาตรการใหม่ๆเพิ่มเติม โดยต้องทำหลายมาตรการไปพร้อมกัน ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้พอมีเงินใช้จ่าย ได้ และช่วยให้มีคนมีรายได้มากให้คนมีเงิน ออกมาใช้เงิน เพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจได้รมว.คลังมาเติมเต็ม จากนี้จะเดินหน้าแก้ปัญหาตามมาตรการและเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กำชับให้ช่วยกันสนับสนุนมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจข้างต้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเต็มที่ในทุกกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆนี้จะเห็นความเชื่อมโยงและความต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ โดยเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นงบประมาณของรัฐประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะหามาตรการดีๆมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพยายามรักษาเสถียรภาพ และวินัยการเงินการคลังของประเทศให้ดีที่สุด เพื่อภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและควบคุมการระบาดได้ดี ประเทศจะได้มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งทางการเงินที่จะเดินหน้าและเติบโตต่อไปได้
“ช้อปดีมีคืน” คาดมีผู้ใช้สิทธิฯ 3.7 ล้านคน ดัน GDP เพิ่ม 0.03%
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นโครงการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท โดยผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิต้องไม่ได้เป็นผู้ใช้สิทธิในโครงการ “คนละครึ่ง” หรือ บัตรสวัสดิการของรัฐ
ในส่วนสินค้าหรือค่าบริการ จะไม่รวม สุรา เบียร์ ไวน์, ยาสูบ, ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ, ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ, ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร และค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต, ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวว่าด้วยกฎหมายนำเที่ยว หรือ มัคคุเทศน์, ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม เพราะบางส่วนอยู่ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
ทั้งนี้ ผู้มีรายได้จะต้องซื้อสินค้าหรือค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย และต้องได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
นายอนุชา กล่าวว่า ในส่วนการซื้อสินค้าและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว จะจ่ายให้กับผู้ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มได้
จากฐานข้อมูลของผู้เสียภาษีรายได้บุคลลธรรมดา ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 3.7 ล้านคน จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 14,000 ล้านบาท แต่จะมีเม็ดเงินเข้ามาเพื่อให้เกิดกำลังซื้อได้ประมาณ 1.11 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2563 โดยคาดว่า GDP จะเพิ่มขึ้นได้ 0.30%
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการ/มาตรการ ได้แก่ “โครงการคนละครึ่ง” จะช่วยเหลือดูแลพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา “โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษ สำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ “มาตรการช้อปดีมีคืน” จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและส่งเสริมการอ่าน
ทั้งนี้ โครงการ/มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 28 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.54%