เปิดสาระสำคัญ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นการบริโภคในปท. ส่งท้ายปี
เปิดสาระสำคัญ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่งท้ายปลายปี
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ “ช้อปดีมีคืน” โดยสาระสำคัญของมาตรการ มีรายละเอียด ดังนี้
1.วัตถุประสงค์
1.1กระตุ้นการบริโภคในประเทศ
1.2สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน
2.กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3.ระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
4.วิธีดำเนินงาน
4.1กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
4.2หลักเกณฑ์
1) ผู้มีเงินได้ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่งหรือโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามมติคณะรัฐนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563
2) ค่าสินค้าหรือค่าบริการไม่รวมถึง
2.1) ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
2.2) ค่ายาสูบ
2.3) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
2.4) ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
2.5) ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
2.6) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
2.7) ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
3) ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
3.1) ค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
3.2) ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
4) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เช่น วิธีการใช้สิทธิ์โดยทั่วไป วิธีการใช้สิทธิ์ของสามีและภริยา ข้อห้ามการใช้สิทธิ์ของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หลักฐานประกอบการใช้สิทธิ์ เป็นต้น
อนึ่ง การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ ..(พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
5.สูญเสียรายได้ จากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 3.7 ล้านคน ซึ่งจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 14,000ล้านบาท
6.ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
6.1 เป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งคาคว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 111,000 ล้านบาททั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 0.30 อย่างไรก็ดี จะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่วนหนึ่งจากการหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการของผู้มีเงินได้ แต่จะเป็นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม
6.2 เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาว
นอกจากนั้น ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรมีสาระสำคัญ กำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการบางประเภทให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ซึ่งได้แก่ ค่าซื้อหนังสือ หรือค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินสามหมื่นบาท ทั้งนี้ สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563