ก.ล.ต.เผยเสวนาออนไลน์กระแสแรง! เชื่อช่วยส่งเสริมหน้าที่บอร์ด ดันบจ.โตยั่งยืน

ก.ล.ต.เผยเสวนาออนไลน์กระแสแรง! เชื่อช่วยส่งเสริมบอร์ดตรวจสอบ ดันบจ.โตยั่งยืน


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานเสวนา หัวข้อ “Strengthening Good Corporate Governance by Audit Committee and Independent Director: Experiences from Fraud Cases” ส่งเสริมการทำหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของบริษัทจดทะเบียนเพื่อยกระดับการจัดทำรายงานทางการเงินขององค์กรให้เข้มแข็ง โดยถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจ “สำนักงาน กลต.” และเพจ “Thai Institute of Directors (IOD)” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก มียอดผู้เข้าถึง (reach) รวม 5,509 คน

โดยการจัดเสวนาดังกล่าวเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับระบบการรายงานทางการเงินได้รับทราบกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นทั่วโลก และตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการป้องกันและการตรวจจับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดความเสียหายกับบริษัทจดทะเบียน โดยสามารถใช้กลไกและเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่ง ก.ล.ต. เห็นความสำคัญในการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีส่วนช่วยให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายในที่ดีและสามารถป้องกันการเกิดทุจริตได้

ทั้งนี้ นายประสัณห์ เชื้อพานิช กรรมการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. และประธานกรรมการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า กรรมการตรวจสอบมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องคอยสอดส่องดูแลบริษัทจดทะเบียนที่ตนเองเป็นกรรมการให้มีรายงานทางการเงินที่ถูกต้อง มีระบบการควบคุมภายในและระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและความเสี่ยงของบริษัทอย่างเพียงพอ เพื่อที่จะดูแลให้บริษัทมีระบบและมาตรการป้องกันที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกผู้สอบบัญชีที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ

นอกจากนี้ กรรมการตรวจสอบจึงควรสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้สอบบัญชีและให้เวลาในการทำหน้าที่ของตนอย่างเพียงพอ รวมถึงการไม่ควรรอรับแจ้งเรื่องการทุจริตจากผู้สอบบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความระมัดระวังสงสัยเพื่อระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโดยตั้งคำถามกับฝ่ายจัดการให้อธิบายถึงความสมเหตุสมผลทางธุรกิจของรายการที่มีความผิดปกติ พร้อมทั้งให้หน่วยงานตรวจสอบภายในสนับสนุนให้การทำงานของตนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

 

 

Back to top button