“นายกฯ” ลั่นไม่ลาออก ตามข้อเรียกร้องกลุ่ม “คณะราษฎร” ถาม “ผมทำผิดอะไร”!

“นายกฯ” ลั่นไม่ลาออก ตามข้อเรียกร้องกลุ่มคณะราษฎร ถาม “ผมทำผิดอะไร”!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ต.ค.63) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ โดยยืนยันว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่งตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร 2563

“ไม่ออก…ผมทำผิดอะไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ เห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องเสนอครม.ขอความเห็นชอบใน 3 วัน เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ จากเดิมที่ใช้กฎหมายชุมนุมปกติ ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ สอดคล้องสถานการณ์โควิด-19 ด้วย โดยจะประกาศใช้ให้สั้นที่สุดเพียง 1 เดือน

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความคืบหน้า ทั้งมาตรการป้องกันโควิด มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด การเจรจาการค้าทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลให้บ้านเมืองสงบสุข เป็นห่วงผู้บริสุทธิ์ ขอให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานอย่าทำผิดกฎหมาย ต้องรักษาสิทธิของคนส่วนใหญ่ด้วย เพราะมีนักธุรกิจร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

          “จำเป็นต้องประกาศใช้ เพื่อรักษาคนส่วนใหญ่ เรื่องเศรษฐกิจไว้ให้ได้ ต้องรักษาทรัพย์สินประชาชน ทำให้ทุกอย่างเสียไปทั้งหมด การทำงานทำด้วยความยากลำบาก…รัฐบาลมุ่งหวังให้สั้นที่สุดแค่ 1 เดือน หรือน้อยกว่านั้น ถ้าสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับการประกาศเคอฟิวส์หรือกฎอัยการศึกนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งมีการกำหนดไว้ในกฎหมาย ตนไม่อยากให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น

  “ในส่วนของสภาฯ เดินตามขั้นตอนอยู่แล้ว ไปว่ากันตรงโน้น จะเปิดสภาฯในอีกไม่กี่วันอยู่แล้ว แก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลมีแนวทางอยู่แล้ว ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รมว.ต่างประเทศได้ทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมย้ำว่าใช้มาตรการที่เบาที่สุดแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอยู่ 2 กรณี คือหนึ่งตามมาตรา 5 ซึ่งวันนี้ยังใช้อยู่ทั่วราชอาณาจักรในสถานการณ์โควิด-19 และสองการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง บัดนี้ประกาศใช้เฉพาะกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นมีกรอบ 30 วัน นายกฯสามารถยกเลิกได้ทันทีเมื่อเห็นสถานการณ์เบาบางลง

สำหรับการประกาศเคอร์ฟิวจะเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เงื่อนไขที่ประกาศวันนี้ยังไม่มีใครคิดและพูดถึงเรื่องนี้ โดยหน่วยความมั่นคงจะประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน ส่วนสถานการณ์จะยืดเยื้อหรือไม่นั้นยังไม่มีการประเมินตรงนี้

ส่วนที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ระบุว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบและเปิดเผยนั้น แต่มาตราดังกล่าวกำหนดไว้ในวรรค 2 ว่า อาจจำกัดเสรีภาพตามวรรค 1 ได้ กรณีมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งวันนี้มีแล้ว จึงถือเป็นข้อจำกัดของเสรีภาพนั้น หากในยามปกติไม่มีข้อจำกัดก็ยึดตามวรรค 1 แต่วันนี้เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็มีข้อจำกัด ดังนั้นจะมาอ้างเสรีภาพคงไม่ได้แล้ว

สำหรับการนัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์ของคณะราษฎร 2563 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าผู้มาชุมนุมวันที่ 15 ต.ค. ถือว่าทำผิดกฎหมายทั้งหมดนั้น นายวิษณุ ระบุว่า ถูกต้อง เพราะเมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่จะไม่ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

ส่วนที่ผู้ชุมนุมประกาศว่าจะชุมนุมแบบดาวกระจายไปในจังหวัดต่างๆด้วย ขณะที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังครอบคลุมเฉพาะกรุงเทพมหานครนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าจำเป็นก็ประกาศเพิ่มจังหวัดอื่นๆได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากมีการประกาศเพิ่มจังหวัดโดยที่ ครม.ยังไม่ได้อนุมัติก็ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.ฉุกเฉินแบบวันนี้อีกครั้ง

นายวิษณุ กล่าวว่า การชุมนุมดาวกระจายในต่างจังหวัดนั้นไม่กระทบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ ทุกอย่างยังคงเดินหน้าไปตามปกติ

ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ นายวิษณุ กล่าวว่า อีก 2 สัปดาห์สภาจะเปิดประชุมสามัญแล้ว กว่าจะเสนอพระราชกฤษฎีกาขึ้นไป และโปรดเกล้าฯลงมาก็พอดีกับวันเปิดสภาวันที่ 1 พ.ย.พอดี

Back to top button