“พุฒิพงษ์” รับเอกสารสั่งระงับออกอากาศสื่อออนไลน์ ของจริง! จ่อฟ้องดำเนินคดี 2-3 ราย
“พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดีอีเอส รับเอกสารสั่งระงับออกอากาศสื่อออนไลน์ ของจริง! จ่อฟ้องดำเนินคดี 2-3 ราย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยอมรับว่าเอกสารคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ให้ตรวจสอบสำนักข่าวออนไลน์ ระงับการออกอากาศ เผยแพร่ และลบข้อมูลบางส่วน โดยอ้างกระทบความมั่นคงของรัฐที่มีการเผยแพร่ออกมานั้นเป็นของจริง แต่ไม่ใช่ทุกราย และจะต้องดูว่าบังคับใช้กับใครบ้าง
ส่วนกรณีที่ตำรวจประสานงานให้ตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ข่าว และช่องทางในการนัดหมายชุมนุมนั้น นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า ในการแจ้งความดำเนินคดี จะมีสำนักข่าวที่เข้าข่ายความผิดด้วย แต่จะถึงขั้นปิดหรือไม่ต้องตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งหากมีคำสั่งศาลให้ปิดก็จะประสานให้ปิดทันที
ส่วนสื่อดิจิทัลก็จะประสาน กสทช. ขณะที่สื่อออนไลน์ที่รายงานสถานการณ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็จะตักเตือนก่อน และจะดำเนินคดีต่อไป เบื้องต้นมีประมาณ 2-3 ราย ที่ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กออกอากาศ และเป็นสถานีข่าว
“วันนี้มีประมาณ 2-3 ราย มีทั้งใช้แพลตฟอร์ม Facebook ในการออกเป็นข่าว เป็นช่องสถานีข่าวเลย และมีการเก็บหลักฐานไว้ เมื่อเข้าฐานความผิด เราก็ส่งทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และส่งดำเนินคดีวันนี้” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของกระทรวงฯ จะเก็บรวบรวมหลักฐานผู้กระทำความผิด ส่วนจะใช้กฏหมายฉบับใดก็จะพิจารณาต่อไป ซึ่งหากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต่อไป ส่วนที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็จะดำเนินการทันที พร้อมยืนยันจะดำเนินการย่างระมัดระวังและรอบคอบ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลใช้อำนาจปิดกั้นประชาชนนั้น นายพุทธิพงษ์ ย้ำว่า ไม่ได้ดำเนินคดีกับทุกคน เพราะหากไม่เข้าข่ายความผิดหรือข้อกฎหมาย ก็ไม่ได้ดำเนินคดี ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน
“ที่ผ่านมา ได้มีการติดตามและเฝ้าระวังการสื่อสารมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งขณะนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย จึงจำเป็นต้องเข้มงวด ซึ่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ” รมว.ดีอีเอส ระบุ
โดยในวันนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มอย่างผิดกฏหมาย ตั้งแต่วันที่ 14-18 ต.ค.63 เบื้องต้นพบผู้กระทำผิดประมาณ 300,000 URL โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อระบุตัวบุคคลให้ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อไป พร้อมฝากเตือนประชาชนให้ใช้สื่ออย่างระมัดระวัง เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะห้ามยุยง ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยก ดังนั้นหากมีการกระทำที่เข่าข่ายก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เช้านี้ได้มีการประชุมจากกรณีที่พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่มีคำสั่งให้กสทช. และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการเพื่อตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการ หรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หลังจากมีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง
ทั้งนี้ หลังการประชุมเสร็จสิ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเป็นผู้แถลงข่าว