กลุ่ม ปตท. เปิดตัว “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” แห่งแรกของไทย
กลุ่ม ปตท. เปิดตัว “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” แห่งแรกของไทย นำร่องผลิตไฟป้อนใช้ภายในกลุ่มฯ โดยใช้ความรู้ในเชิงวิศวกรรมในการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล และใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ อายุการใช้งาน 25 ปี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเดินหน้าขยายการติดตั้งให้แก่ผู้สนใจทั่วไป
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม เปิดตัวโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล ขนาด 100 กิโลวัตต์ เป็นโครงการแรกของประเทศไทย ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด
ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในสำนักงานให้กับ PTT Tank ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 39 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน ช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business)
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประทานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Floating Solar เป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่เราจะได้ Renewable ความ Green ของพลังงานไฟฟ้า ที่ทางกลุ่ม ปตท. ดำเนินตามนโยบายของกลุ่มและประเทศ ที่อยากจะให้ประเทศไทยได้ใช้พลังงานสะอาด ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นโครงการที่ร่วมกันในหลายๆ บริษัท Flagship ด้วยกัน ก็มี GPSC GC ที่ผลิตทุ่นลอยน้ำ CHPP เป็นบริษัทในเครือของ GPSC ที่เป็นผู้ผลิตโซลาร์และติดตั้งบนทะเล กระแสไฟฟ้ามาใช้ในบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปตท. เช่นกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โครงการดังกล่าว เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของกลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการพลังงาน
ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หรือ CHPP เป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล และ
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก InnoPlus HD8200B ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปง่าย ช่วยลดความหนาเมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion blow molding) เป็นทุ่นลอยน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นทุ่นลอยน้ำต้นแบบที่เพิ่มสารต้านยึดเกาะและลดการเกาะสะสมของเพรียงทะเล ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสารแต่งเติมป้องกันรังสี UV รับประกันความทนทาน 25 ปี
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราใช้ขีดความสามารถในเชิงวิศวกรรมการออกแบบ และยังนำเม็ดพลาสติกของ GC มาออกแบบทำทุ่นลอยน้ำ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของเราเอง เพื่อเป็นทุ่นลอยน้ำที่เอาไว้สำหรับติดตั้งโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์
จากทะเล โดยเม็ดพลาสติกและการออกแบบนี้จะมีความทนทานในการใช้งานอยู่ที่ 25 ปีขึ้นไป สามารถกันทั้งรังสี UV และกันเพรียงทะเลด้วย เนื่องจากทาง GPSC และ CHPP เป็นบริษัทนวัตกรรมในกลุ่ม ปตท. การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดทุ่นลอยน้ำทะเล ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นส่วนต่อยอดจากนวัตกรรมในเรื่องของ New Energy ของกลุ่ม ปตท. ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Solar Rooftop และ Floating Solar ที่ผลิตจากน้ำจืด ซึ่งเราดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน
โครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่ม ปตท.
ที่ได้มีการผสานเทคโนโลยี ทั้งด้านเคมีภัณฑ์และนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมที่จะนำแนวทางของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสมทั้งในและต่างประเทศต่อไป