“หอการค้าโพล” ชี้ภาคธุรกิจกังวล “โควิด” มากกว่า “ม็อบ” เว้นยกระดับชุมนุม อาจทำ ศก.แย่ลง

"หอการค้าโพล" ชี้ภาคธุรกิจกังวล “โควิด” มากกว่าม็อบ เว้นกรณีมีการยกระดับการชุมนุม และยืดเยื้อ อาจทำเศรษฐกิจแย่ลง


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจ ต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทย โดยเมื่อถามว่าภาคธุรกิจมีความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชุมนุมทางการเมืองอย่างไร พบว่า ภาคธุรกิจ 35.6% กังวลปัญหาโควิดมากกว่าการเมือง รองลงมา ภาคธุรกิจ 32.5% กังวลปัญหาโควิดน้อยกว่าการเมือง ในขณะที่ 31.9% มีความกังวลพอๆ กัน

เมื่อถามถึงทัศนะของภาคธุรกิจต่อการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ 68.1% มองว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแย่ลง ส่วน 29.8% มองว่าไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 2.1% ที่มองว่าดีขึ้น แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อออกไป 3 เดือน ส่วนใหญ่ 70.9% มองว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะแย่ลง ส่วนอีก 26.6% มองว่าไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 2.5% ที่มองว่าดีขึ้น

ส่วนความเห็นต่อสถานภาพธุรกิจของตัวเองจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยอดการจำหน่าย, กำไร, ต้นทุน, สภาพคล่อง และสถานภาพโดยรวมแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลง และหากการชุมนุมยืดเยื้อไปอีก 3 เดือน ส่วนใหญ่มองว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยอดจำหน่าย กำไร ต้นทุน สภาพคล่อง และสถานภาพโดยรวม

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ภาคธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองมากสุด 5 อันดับแรก คือ 1.การยกระดับความรุนแรงของการชุมนุมที่ส่งผลถึงความปลอดภัย 2.ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ 3.แนวร่วมการชุมนุมที่ขยายวงกว้าง และระยะเวลาในการชุมนุมยาวนานขึ้น 4.ส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในการชุมนุม และ 5.ความขัดแย้งจากความเห็นต่างทางความคิด ส่งผลกระทบต่อสังคม ทัศนคติ และความสามัคคีภายในประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา พบว่า ภาคธุรกิจถึง 82.64% ระบุว่าต้องมีการปรับปรุงองค์กรหรือแนวทางการบริหารงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์มากขึ้น, ลดจำนวนแรงงาน, ปรับเปลี่ยนสินค้า และเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ ในขณะที่ 17.36% ระบุว่าไม่ปรับปรุง เนื่องจากไม่มีเงินทุนในการปรับปรุง, ธุรกิจยังดำเนินการไปได้ และเป็นธุรกิจขนาดเล็กมาก

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุด คือ โควิด 24.7% รองลงมา นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20.2% สถานการณ์การเมือง 18.5% สภาพคล่องทางการเงิน 17.2% กำลังซื้อ 13.7% และอื่นๆ 5.7% โดยเมื่อถามว่าจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความเสี่ยงถึงขั้นต้องเลิกกิจการมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ 38.36% ระบุว่ามีความเสี่ยงปานกลาง ในขณะที่ 28.33% ระบุว่ามีความเสี่ยงมาก ซึ่งใกล้เคียงกับ 28.94% ที่ระบุว่ามีความเสี่ยงน้อย โดยมีเพียง 4.36% ที่ระบุว่าไม่มีความเสี่ยง

ทั้งนี้ จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน คิดว่าจะสามารถประคองธุรกิจได้นานเท่าไรนั้น ธุรกิจขนาดเล็ก ตอบว่า 4.3 เดือน ธุรกิจขนาดกลาง ตอบว่า 4.9 เดือน และธุรกิจขนาดใหญ่ ตอบว่า 5.1 เดือน ซึ่งโดยรวมแล้วเฉลี่ยที่ 4.6 เดือน

สำหรับสิ่งที่ต้องการได้รับจากรัฐบาลเพื่อช่วยพยุงธุรกิจนั้น อันดับแรก คือ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รองลงมา คือ การลดภาระหนี้, การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศ, การหาตลาดใหม่, มาตรการลดภาษีเพื่อธุรกิจ และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

เมื่อถามว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกิจการในปัจจุบันมาจากแหล่งใด ส่วนใหญ่ 43.2% ตอบว่ามาจากเงินทุนของตัวเอง รองลงมา 36.7% ตอบว่ามาจากแหล่งเงินทุนในระบบ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non Bank) และสหกรณ์ ขณะที่ 20.1% ตอบว่ามาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบ เช่น นายทุนปล่อยกู้ ญาติพี่น้อง เป็นต้น

Back to top button