GLOW ตั้งเป้าจ่ายปันผลเพิ่มขั้นต่ำ 5% ทุกปี เล็งลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์-ลาว

GLOW คาดกำไรครึ่งปีหลังจะลดลงจากครึ่งปีแรก หลังรายได้ค่าความพร้อมจ่ายโรงไฟฟ้า "โกลว์ ไอพีพี" ลดลงราว 300-400 ลบ. ตั้งเป้าจ่ายปันผลเพิ่มขั้นต่ำ 5% ทุกปี เล็งลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์-ลาว อยู่ระหว่างเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทย 50-70 MW


บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ระบุว่า บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิก่อนรวมกำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ และรายได้/ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (Normalized Net Profit :NNP) ในปีนี้จะลดลงจากปีก่อน หลังรายได้จากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี ลดลงราว 300-400 ล้านบาทในปีนี้เป็นไปตามตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ขณะที่ยอดขายไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเติบโตได้ดี สวนทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ช่วยพยุงกำไรไม่ให้ปรับลดลงมากนัก อย่างไรก็ตาม บริษัทยังยืนยันเป้าหมายที่จะจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นขั้นต่ำ 5% ทุกปีหลังยังไม่มีแผนลงทุนใหม่มากนัก

ขณะที่บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยมองการซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทยขนาด 50-70 เมกะวัตต์ ซึ่งยังรอลุ้นให้ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ก่อนดำเนินการซื้อกิจการดังกล่าว ส่วนในต่างประเทศนั้นมองการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เมียนมาร์ และลาว โดยเฉพาะในส่วนของลาวซึ่งเป็นโครงการพลังน้ำ คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปีนี้

ด้านนายณัฐพรรษ ตันบุญเอก Senior Vice President-Treasurer GLOW คาดว่ากำไรในช่วงครึ่งหลังของปีจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติของธุรกิจกลุ่มโกลว์ เนื่องจากค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของธุรกิจในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) จะไม่เท่ากันในแต่ละช่วงฤดูกาล โดยมีอัตราสูงสุดในช่วงหน้าร้อน คาดว่า NNP ในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะต่ำกว่าที่ทำได้ราว 5 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะทำให้ NNP รวมทั้งปีนี้อยู่ในระดับต่ำกว่า 9.67 พันล้านบาทในปีก่อน นับเป็นระดับสูงสุดประวัติการณ์

ทั้งนี้ GLOW ซึ่งมีกลุ่ม ENGIE จากฝรั่งเศส เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 2,891 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำทั้งสิ้น 1,206 ตัน/ชั่วโมง แบ่งเป็นธุรกิจไอพีพี ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ,โกลว์ ไอพีพี  และห้วยเหาะในลาว และธุรกิจโคเจนเนอเรชั่น ประกอบด้วย การขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในรูปแบบของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก(SPP)และการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม โดยมีรายได้ในกลุ่มธุรกิจไอพีพี 40% และโคเจนเนอเรชั่น 60% ขณะที่มีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจไอพีพี 45% และโคเจนเนอเรชั่น 55%

โดยในปีนี้โกลว์ ไอพีพี จะเริ่มมีค่าความพร้อมจ่ายลดลง 300-400 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและจะเริ่มลดลงต่อเนื่องทุกปี ส่วนโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันจะเริ่มมีค่าความพร้อมจ่ายลดลงตั้งแต่ปี 62 โดยจะส่งผลกระทบต่อกำไรให้ลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทได้รับประโยชน์จากธุรกิจโคเจนเนอเรชั่น ในส่วนที่ขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งยังเติบโตได้ดีมากสวนทิศทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ราว 90% เป็นลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีที่เดินเครื่องผลิตเต็มที่ จากส่วนต่าง(สเปรด)ราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในส่วนของปิโตรเคมีขั้นต้น ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำค่อนข้างมาก  ส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมอีกราว 10% นั้นอยู่ในกลุ่มยานยนต์ ยังมีปริมาณขายไฟฟ้าและไอน้ำที่ทรงตัว แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์จะชะลอตัวลงในปีนี้ก็ตาม

ขณะที่ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับลดลง 2 ครั้งในปีนี้รวมประมาณ 20 สตางค์/หน่วยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เพราะราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีราคาปรับลดลงมากกว่า อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซฯที่ลดลงก็ส่งผลกระทบต่อราคาขายไอน้ำให้ลดลงตามด้วย

สำหรับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวส่งผลต่อการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ในส่วนของบริษัทยังไม่เห็นผลกระทบ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มปิโตรเคมี แม้อาจจะยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวบ้าง แต่ยังเชื่อว่าปริมาณการผลิตในจีนยังคงขาดอยู่หลังจากเกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้งใหญ่ของโรงปิโตรเคมีในจีน ทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเคมียังคงมีอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มกำไรของกลุ่มโกลว์จะลดลงในระยะต่อจากนี้ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า และยังไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบมาในช่วงนี้ แต่กระแสเงินสดที่บริษัทเตรียมไว้จ่ายปันผลนั้นไม่ได้ลดลงตาม เนื่องจากภาระหนี้ของบริษัทก็จะทยอยลดลงด้วย โดยโกลว์ ไอพีพี จะหมดภาระหนี้ในปี 61 และหลังปี 64 กลุ่มโกลว์ ก็จะไม่มีภาระหนี้เหลืออยู่ จากปัจจุบันที่กลุ่มโกลว์ มีกระแสเงินสดที่พร้อมนำมาจ่ายหนี้และจ่ายปันผลประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี และมีภาระหนี้ราว 5-6 พันล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ปัจจุบันกลุ่มโกลว์ยังไม่มีโครงการลงทุนใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท แต่ยังคงมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ผ่านพ้นการลงทุนจำนวนมากในช่วงปี 51-55 มาแล้ว แต่ขอบเขตของการลงทุนกลุ่มโกลว์ จะอยู่ในไทย,เมียนมาร์,ลาว และกัมพูชาเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ENGIE ซึ่งบริษัทแม่

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศมองว่าในส่วนของกัมพูชา น่าจะมีความเป็นได้ยากที่สุดเพราะโครงการที่ขายไฟฟ้ากลับมายังไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศก็ยังไม่มีมากนัก เมื่อเทียบกับเมียนมาร์ และลาว ที่ปัจจุบันได้เข้าไปตั้งสำนักงานขนาดเล็กในเมียนมาร์เพื่อมองหาโอกาสการลงทุน ล่าสุดได้พิจารณาอยู่ 2-3 โครงการ ทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ แสงอาทิตย์ ก๊าซฯ โดยเจรจากับพันธมิตรระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่อาจมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับรัฐบาลเมียนมาร์แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มพัฒนาโครงการ

ส่วนโครงการในลาวนั้น อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาดกว่า 100 เมกะวัตต์  ซึ่งเป็นโครงการได้เซ็นสัญญาเบื้องต้นกับรัฐบาลลาวที่จะเข้าทำโครงการแล้ว หลังจากศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จ แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของโครงการไม่มีเงินลงทุน ซึ่งคาดว่าน่าจะสรุปได้ในปีนี้ โดยเบื้องต้นกลุ่มโกลว์อาจจะถือหุ้นราว 80% ส่วนที่เหลือเป็นการถือหุ้นจากเจ้าของโครงการ แต่คาดว่าจะเวลามากกว่า 4 ปี ด้วยมูลค่าโครงการไม่เกิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่โครงการในไทยนั้น บริษัทเจรจาเพื่อซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 50-70 เมกะวัตต์ บริเวณห้วยบง ซึ่งล่าสุดได้สรุปเงื่อนไขการลงทุนกับเจ้าของโครงการแล้ว และอยู่ระหว่างการรออนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นกลุ่มพลังงานทดแทนค้างท่อ ที่ได้ยื่นขอทำโครงการไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยหากได้รับอนุมัติ PPA ก็จะเข้าซื้อโครงการดังกล่าว

ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้า SPP ของบริษัท 2 แห่ง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.รวม 180 เมกะวัตต์ ที่จะหมดสัญญาการซื้อขายของกฟผ.ในปี 60 นั้น ขณะนี้การเจรจาเพื่อขอพัฒนาโครงการต่อนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าในทิศทางบวก และคาดว่าจะมีพัฒนาการที่ดีออกมาในเร็ววันนี้

Back to top button