“สศค.” หั่นคาดการณ์จีดีพี หดเหลือ 7.7% ติดลบน้อยลง มองศก.เดินหน้าต่อได้

“สศค.” หั่นคาดการณ์จีดีพี หดเหลือ 7.7% ติดลบน้อยลง มองศก.เดินหน้าต่อได้


สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 มาที่ -7.7% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ -8.5% โดยยังไม่รวมสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้อยู่

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 63 ติดลบน้อยลง โดยอยู่ที่ -7.7% จากเดิมคาดไว้ -8.5% ซึ่งได้ปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยคาดว่าอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 จะอยู่ที่ -0.9% ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.8% ของ GDP

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประกอบไปด้วย โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โครงการ “คนละครึ่ง” และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าของไทยในปี 63 จะปรับตัวดีขึ้น โดยติดลบน้อยลงเหลือ -7.8% จากเดิมที่คาดไว้ -11%

สำหรับปัญหาทางการเมืองในประเทศขณะนี้ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ แม้จะมีการปิดกิจการบางส่วนบ้าง แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงจุดยืน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความชัดเจนทางการเมือง และทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเดินหน้าได้ตามปกติ

  “ช่วงครึ่งหลังของปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี โดยภาครัฐยังคงดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีการประเมินว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/63 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.54% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ไปแล้ว ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา มองว่าเพียงพอดูแลเศรษฐกิจถึงสิ้นปีนี้ แต่คลังพร้อมติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นก็พร้อมออกมาตรการเพิ่มทันที” นายพรชัย กล่าว

ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 63 ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 6.7 ล้านคน ลดลง 83.2% รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 0.33 ล้านล้านบาท ลดลง 82.8% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน ขยายตัว 19.7% รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดีขึ้นมาอยู่ที่ 0.40 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 21.3%

สำหรับปี 64 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นที่ระดับ 4.5% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการส่งออก กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 6% ตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัว การบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ดีขึ้น

นายพรชัย กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น และทิศทางค่าเงินบาท ในปี 2563 คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 31.43 บาท/ดอลลาร์ และปี 2564 ที่ 30.89 บาท/ดอลลาร์ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบ ในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 41.50 ดอลลาร์/บาเรล และปี 2564 อยู่ที่ 44.50 ดอลลาร์/บาเรล

Back to top button