“ธปท.” เผยศก.ไทย ไตรมาส 3 เห็นสัญญาณฟื้น ส่งออก-ลงทุนเอกชน หดตัวน้อยลง

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภา …


น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.63 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเกือบเป็นปกติในหลากหลายภาคส่วน และอีกส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดพิเศษ ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยขยายตัวสูงขึ้นจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาทรงตัว หลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง

โดยการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ หลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนก่อน ขณะที่ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจมีรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวสูงขึ้น

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน กลับมาทรงตัวได้ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน โดยได้รับผลดีจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษชดเชยวันสงกรานต์ที่เลื่อนมาจากเดือนเม.ย. และปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้นตามรายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคการเกษตร โดยในเดือนนี้ การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ หดตัวน้อยลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ส่วนหนึ่งมีผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 4.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 3.7% ปรับดีขึ้นมากจากที่หดตัวถึง 13.6% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาขยายตัวได้ดี ขณะที่ยานยนต์และชิ้นส่วนหดตัวน้อยลง ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงตามการผลิตที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ และมีผลของฐานต่ำในปีก่อนในหมวดการผลิตยานยนต์และปิโตรเลียม

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งทิศทางความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรบดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่ลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 8.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ 6.7% โดยเป็นการหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีทิศทางปรับดีขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ที่ลดลง แต่สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดือนก่อน ตามมูลค่าการส่งออกทองคำที่น้อยลงเป็นสำคัญ

Back to top button